แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถโดยสารมาติดสัญญาณจราจรไฟสีแดงหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นคันแรกโดยจอดอยู่ช่องขวาสุดริมเกาะกลางถนนเพื่อเลี้ยวขวาไปทางท่าช้าง เวลาเดียวกันส.และผู้ตายกำลังจะข้ามถนนเมื่อส. และผู้ตายก้าวลงจากทางเท้าข้ามถนนตรงทางข้ามนั้นเป็นจังหวะเดียวกับสัญญาณไฟจราจรซึ่งอยู่ข้างหน้าจำเลยเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียว จำเลยจึงเร่ง ออกรถโดยไม่ทันดูว่าส. และผู้ตายกำลังข้ามถนนในทางข้ามอยู่ ถึงแม้จำเลยจะเลี้ยงขวาเมื่อสัญญาณจราจรไฟสีเขียว จำเลยก็จะต้องขับรถด้วยความระมัดระวังและต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามด้วยตามมาตรา 22(4) วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 จำเลยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ได้รับอัตราสาหัสและผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 22(4),43(4),152 และ 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลลชนกรุงเทพ สาย ปอ.39 หมายเลขทะเบียน 11-8466กรุงเทพมหานคร จากด้านถนนราชดำเนินใน มุ่งหน้าไปทางท่าช้างด้วยความเร็วสูงมาถึงบริเวณใกล้แยกป้อมเผด็จดัสกรตรงทางข้ามซึ่งเป็นเครื่องหมายจราจรที่เจ้าพนักงานได้จัดไว้ขณะนั้นมีนางสนองไพรินทร์ ผู้เสียหาย และนางลั้ง วรรณวิทย์ ผู้ตาย กำลังเดินข้ามถนนในบริเวณทางข้ามดังกล่าว จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับชนผู้เสียหายและผู้ตายล้มศีรษะฟาดถนนจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ส่วนผู้ตายได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 22, 43, 152, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 ประมวลกฎหมายอาญาจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 22(4), 43(4)(8), 152 และ 157 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 8 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.39 ชนผู้เสียหายและผู้ตาย มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า เหตุที่รถที่จำเลยขับชนผู้ตายเพราะความประมาทของจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ขณะที่ผู้เสียหายเดินลงจากทางเท้าเพื่อข้ามถนนตรงทางข้ามได้ประมาณ 1 ถึง 2 ก้าว โดยมีผู้ตายเดินนำหน้าห่างประมาณ1 ช่วงแขนก็ถูกรถโดยสารประจำทางแล่นมาชน ระยะทางที่ผู้ตายซึ่งเดินนำหน้านางสนองไปได้ประมาณ 1 ช่วงแขนจึงน่าจะอยู่ห่างจากขอบทางเท้าประมาณ 2 เมตร ถนนบริเวณที่เกิดเหตุกว้าง 8 เมตรผู้ตายซึ่งเดินนำหน้าจึงเดินถึงกึ่งกลางช่องเดินรถด้านซ้ายแล้วความข้อนี้ปรากฏตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.4ข้อ 9.2 ว่ามีรองเลือดบนพื้นถนนบริเวณทางข้ามและตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.3 ก็ระบุว่าจุดชนอยู่ตรงทางข้ามเช่นกัน ประกอบกับผู้เสียหายและผู้ตายเป็นหญิงอายุ 71 และ 72 ปีซึ่งชราแล้วจะข้ามถนนไปเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาคงจะไม่รีบร้อนข้ามถนนหากคิดว่าไม่ปลอดภัยจริง ๆ จึงเชื่อว่าจำเลยขับรถชนผู้เสียหายและผู้ตายขณะเดินอยู่ในทางข้าม จำเลยก็นำสืบเข้ามาว่าในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยขับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.39 มาติดสัญญาณจราจรไฟสีแดงหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นคันแรกโดยจอดอยู่ช่องขวาสุดริมเกาะกลางถนนเพื่อเลี้ยงขวาไปทางท่าช้าง น่าเชื่อว่าเวลาเดียวกันนางสนองและผู้ตายกำลังจะข้ามถนนเพราะเป็นจังหวัดที่ไม่มีรถเนื่องจากรถที่มาจากด้านกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นด้านตรงกันข้ามกับจำเลยก็ติดสัญญาณจราจรไฟสีแดงเช่นกันเมื่อนางสนองและผู้ตายก้าวลงจากทางเท้าข้ามถนนตรงทางข้ามนั้นเป็นจังหวะเดียวกับสัญญาณไฟจราจรซึ่งอยู่ข้างหน้าจำเลยเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียว จำเลยจึงเร่งออกรถด้วยความเร็วเพื่อเลี้ยวรถเพราะความรีบเร่งดังกล่าวจำเลยจึงขับรถเลี้ยวขวาโดยไม่ทันดูว่านางสนองและผู้ตายกำลังข้ามถนนในทางข้ามอยู่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเพราะถึงแม้จำเลยจะเลี้ยวขวาเมื่อสัญญาณจราจรไฟสีเขียว จำเลยก็จะต้องขับรถด้วยความระมัดระวังและต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามด้วยตามบทบัญญัติของมาตรา 22(4) วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522จำเลยขับรถโดยสารมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและการกระทำโดยประมาทของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22(4), 43(4), 152 และ 157ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 22(4), 43(4), 152 และ 157 การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกจำเลย 4 ปี