คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 723/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องได้ซื้อสินทรัพย์ประเภทสัญญาเช่าซื้อของบริษัทเงินทุน พ. ซึ่งถูกปิดกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ป.ร.ส.) ถือว่าเป็นการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 การใช้สิทธิของผู้ร้องในการขอคืนของกลางคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิแทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ พ. ซึ่งผู้ร้องย่อมรับมาทั้งสิทธิเรียกร้องและหน้าที่ทั้งหมดที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว ปรากฏว่าว. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องเบิกความว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ขายดาวน์รถยนต์ของกลางให้แก่ ศ. ไปแล้ว และเหตุที่ต้องยื่นคำขอคืนรถยนต์ก็เนื่องจากต้องคืนรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องเพราะยังค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่ หากสามารถชำระได้หมดก็จะไม่ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง อันเป็นคำเบิกความที่เป็นไปในลักษณะปกปิดข้อเท็จจริงและมีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่จำเลยทั้งสามนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม2541 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดตามสัญญาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541 และมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542 โดยมิได้ดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งต่อ ว. เพื่อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ แต่กลับมอบอำนาจให้ ว. มาร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องร้องขอรถยนต์ของกลางคืนเพื่อประโยชน์ของ ว. ผู้เช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียว ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(4)(7)(8) วรรคสอง, 83, 336 ทวิ และริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 พ – 2713 กรุงเทพมหานคร ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ได้ให้นายวิรัตน์วินิจจริยาวัฒน์ เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 พ – 2713 กรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้กระทำผิด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ดังกล่าว โดยนายวิรัตน์ยังค้างชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดติดต่อกันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องได้ประมูลซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส) ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องในฐานะผู้รับช่วงสิทธิให้ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแทนการเรียกร้องเอารถยนต์ของกลางคืน ผู้ร้องใช้สิทธิขอคืนของกลางโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 9 พ – 2713 กรุงเทพมหานคร ไปใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่เคยทราบมาก่อนว่านายวิรัตน์ผู้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ที่ถูกปิดกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ขายดาวน์รถยนต์ของกลางให้แก่นายศราวุธ การที่ผู้ร้องซื้อสินทรัพย์ประเภทสัญญาเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ที่ถูกปิดกิจการเป็นการรับช่วงสิทธิมาโดยชอบเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ร้อง และที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางโดยไม่เรียกร้องให้นายศราวุธเข้าเป็นผู้เช่าซื้อแทนนายวิรัตน์ มิได้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะผู้ร้องไม่เคยรู้จักกับนายสราวุธมาก่อน ข้อเท็จจริงเรื่องขายดาวน์รถยนต์ของกลางเพิ่งปรากฏหลังจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางแล้วนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องได้ซื้อสินทรัพย์ประเภทสัญญาเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกปิดกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ถือว่าเป็นการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 การใช้สิทธิของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิแทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้นตามหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเอกสารหมาย ร.5ก็ระบุว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) (ผู้โอน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องและหน้าที่ทั้งหมดที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อกับนายวิรัตน์ วินิจจริยวัฒน์ (ผู้เช่าซื้อ) ให้แก่บริษัทบางกอก แคปปิตอล เวนเจอร์ จำกัด (ผู้รับโอน) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541 โดยให้มีผลทันที ดังนั้น ผู้ร้องย่อมรับมาทั้งสิทธิเรียกร้องและหน้าที่ทั้งหมดที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว นอกจากนั้นจากข้อเท็จจริง นายวิรัตน์เบิกความตอบทนายผู้ร้องโดยมิได้เบิกความว่า นายวิรัตน์ได้ขายดาวน์รถยนต์ของกลางให้แก่นายศราวุธศักดิ์เดชะมณี แต่ได้เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ได้ขายดาวน์รถยนต์ของกลางให้แก่นายศราวุธตามเอกสารหมาย ค.1 เหตุที่ต้องยื่นคำขอคืนรถยนต์ของกลาง เนื่องจากนายวิรัตน์ต้องคืนรถยนต์ของกลางดังกล่าวให้แก่บริษัทบางกอก แคปปิตอลเวนเจอร์ จำกัด เพราะยังค้างชำระค่าเช่าซื้อหากนายวิรัตน์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก็จะไม่ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง ตามคำเบิกความของนายวิรัตน์เป็นไปในลักษณะปกปิดข้อเท็จจริงในคดีและมีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยทั้งสามได้นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำผิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดตามสัญญาต่าง ๆ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541 และได้มายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542 โดยมิได้ดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งต่อนายวิรัตน์เพื่อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.6 แต่กลับมอบอำนาจให้นายวิรัตน์มาร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ร้องร้องขอรถยนต์ของกลางคืนเพื่อประโยชน์ของนายวิรัตน์ผู้เช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียวผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง”

พิพากษายืน

Share