คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 723/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อน้ำตาลจากจำเลย 310 หาบ ซึ่งมีจำนวนแน่นอนอยู่ณที่ซื้อขายและบรรจุกระสอบไว้เต็มทั้ง 310 กระสอบ กระสอบหนึ่งหนัก 60 ก.ก.คือหนึ่งหาบ และน้ำตาลนี้เก็บอยู่เป็นส่วนสัดโดยฉะเพาะในการซื้อขายไม่ต้อง ชั่ง ตวง วัดอีก เมื่อโจทก์ได้ชำระราคาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ได้มอบให้จำเลยรักษาไว้ ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกรรมสิทธิในน้ำตาลได้โอนไปยังผู้ซื้อตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 458 แล้ว เมื่อทางราชการบังคับซื้อไป จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด.
โจทก์ทำสัญญาซื้อน้ำตาลจากจำเลย 1740 หาบ โดยไม่มีน้ำตาลอยู่ณที่ซื้อขาย เป็นน้ำตาลที่จำเลยซื้อจากผู้อื่น แยกเก็บไว้ณที่ต่าง ๆ โจทก์ยังไม่ได้ตรวจดูและยังไม่ได้ชำระค่าน้ำตาล ให้แก่จำเลยทั้งหมดเป็นแต่วางมัดจำไว้ กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ขายจะต้องนำน้ำตาลไปส่งผู้ซื้อถึงท่าเรือที่ผู้ซื้อนำเรือไปรับ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อขายเด็ดขาด น้ำตาลยังเป็นของจำเลยอยู่ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบให้โจทก์เต็มตามสัญญา เมื่อจำเลยส่งไม่ได้ครบจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้น้ำตาลจะขาดหายไปเพราะการละลายไหลตามธรรมชาติของน้ำตาลที่เก็บไว้นานก็ดี จำเลยก็ต้องรับผิด เพราะการขาดหายนั้นได้เป็นไปในขณะที่น้ำตาลยังเป็นของจำเลยอยู่.

ย่อยาว

ความว่า โจทก์ได้ตกลงซื้อน้ำตาลทรายแดงจากจำเลยเป็นจำนวน ๑๐๕๐ หาบ ๆ ละ ๒๙.๕๐ บาท น้ำตาลที่ซื้อขายแบ่งออกเป็น ๒ ตอน ๆ แรกเป็นน้ำตาล ๓๑๐ หาบ ซึ่งเป็นน้ำตาลของจำเลยเอง มีจำนวนแน่นอนอยู่ ณ ที่ซื้อขายกันบรรจุกระสอบไว้เต็มรวม ๓๑๐ กระสอบ การซื้อขายน้ำตาลตอนนี้เป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด โดยโจทก์ได้ชำระราคาไปหมดแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้ขนน้ำตาลไป ได้ฝากจำเลยเก็บไว้ที่เดิม
น้ำตาลตอนหลังมีจำนวน ๑๗๔๐ หาบ เป็นน้ำตาลที่จำเลยซื้อจากผู้อื่นแล้วเอามาทำสัญญาขายให้โจทก์ น้ำตาลยังคงเก็บ ณ ที่เดิม โจทก์ยังไม่ได้รับมอบจากจำเลยและยังไม่ได้ตรวจดูและได้ทำสัญญากันไว้แต่เพียงว่า “ฉันนายอุทิส กาลวันตะวานิช (จำเลย) ได้ขายน้ำตาลทรายแดงให้บริษัทไทยพิพัฒน์ (โจทก์) เป็นจำนวนน้ำตาล ๑๗๔๐ หาบ ราคาหาบละ ๒๙.๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕๑๓๓๐ บาท ได้รับเงินมัดจำไว้แล้ว ๒๐๐๐ บาท ยังคงค้างอยู่อีก ๔๙๓๓๐ บาท เงินค้างนี้จะชำระกันภายหลัง ส่วนน้ำตาลเก็บอยู่ที่ศรีราชา ๕๐ หาบ บางพระ ๑๖๕๐ หาบ อำเภอเมือง ๔๐ หาบ ผู้ซื้อจะนำเรือไปบรรทุกที่ท่าดังกล่าวแล้ว ส่วนผู้ขายจะนำน้ำตาลมาส่งถึงท่าเรือ ราคาน้ำตาลข้างบนนี้ไม่เกี่ยวถึงค่าภาษี”
ภายหลังทำสัญญานี้แล้ว จำเลยได้รับเงินไปอีกคงเหลือเงินค้างอยู่ที่โจทก์อีก ๙๓๓๐ บาท ส่วนน้ำตาลยังคงไม่ได้รับมอบ เพราะภายหลังทำสัญญาซื้อขายกันได้ ๓ วัน ทางราชการได้ประกาศควบคุมน้ำตาลทรายแดง จำเลยได้ไปแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ และแจ้งใด้โจทก์ทราบ ต่อมาทางราชการได้บังคับซื้อน้ำตาลไป ๓๕๐ หาบ เป็นน้ำตาลที่จำเลยขายให้โจทก์ในตอนแรก ๓๑๐ หาบ และเป็นน้ำตาลที่ซื้อขายตอนหลัง ๘๔๐ หาบ คือน้ำตาลที่เก็บที่อำเภอเมือง การที่ทางราชการบังคับซื้อนี้ ผู้แทนโจทก์ได้ตกลงยอมให้ทางราชการซื้อไปได้แล้ว ส่วนราคาน้ำตาลที่ทางราชการยอมจ่ายให้นั้น จำเลยได้มารับแทนโจทก์ สำหรับจำนวนเงิน ๓๑๐ หาบ เป็นจำนวนสุทธิ ๙๓๙๘.๑๙ บาท ซึ่งจำเลยหักเป็นค่าน้ำตาลที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระอีก ๙๓๓๐ บาท เป็นอันจำเลยได้รับชำระค่าน้ำตาลทั้งหมดในจำนวน ๙๓๓๐ บาท อันเป็นอันจำเลยได้รับชำระค่าน้ำตาลทั้งหมดในจำนวน ๒๐๕๐ หาบเสร็จสิ้นแล้ว เงินของโจทก์ยังเกินอยู่ที่จำเลยอีก ๖๘.๐๙ บาท ส่วนเงินค่าน้ำตาล ๔๐ หาบที่ทางราชการบังคับซื้อนั้นทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้ ส่วนเงินจำนวนนี้จำเลยยอมให้โจทก์รับไปเป็นของโจทก์ได้ ส่วนน้ำตาลที่ยังคงเหลืออยู่ ๑๗๐๐ หาบ ทางราชการเป็นแต่ควบคุมซึ่งจะขนย้ายมิได้ หาได้บังคับซื้อไม่ ต่อมาทางการเลิกการควบคุมน้ำตาลทรายแดง จำเลยได้แจ้งให้โจทก์มารับน้ำตาลไปได้ โจทก์ไปเอาน้ำตาลไปจากจำเลยปรากฎว่า น้ำตาลมีเต็มกระสอบบ้าง พร่องไปบ้าง และบางกระสอบไม่มีน้ำตาลอยู่เลย จำเลยทำการชั่งน้ำตาลที่คงเหลืออยู่ คงได้น้ำตาลเพียง ๑๔๓๗ หาบ ๙๐ ชั่ง ขาดจำนวนที่ซื้อขายกันไป ๖๑๒ หาบ ๑๐ ชั่ง เมื่อหักกับน้ำตาลที่ทางราชการบังคับซื้อไป ๓๕๐ หาบ น้ำตาลคงขาด ๒๖๒ หาบ ๑๐ ชั่ง ราคาน้ำตาลเวลานี้หาบละ ๘๐ บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยรับผิดค่าน้ำตาลที่ขาดไป หรือใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด ศาลชั้นต้นเห็นว่าน้ำตาลขาดหายไปตามฟ้อง ทั้งนี้เกิดจากน้ำตาลละลายไปตามธรรมชาติจะเอาผิดแก่จำเลยมิได้ เพราะกรรมสิทธิในน้ำตาลได้เปลี่ยนมือโอนไปเป็นของโจทก์แล้ว พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกา เห็นว่า
๑. น้ำตาลที่ตกลงซื้อขายกัน ๓๑๐ หาบนั้น กรรมสิทธิได้เปลี่ยนมือโอนไปเป็นของโจทก์ตั้งแต่วันซื้อขายแล้ว เพราะน้ำตาลนี้มีจำนวนแน่นอนอยู่ ณ ที่ซื้อขายกัน และบรรจุกระสอบไว้เต็มทั้ง ๓๑๐ กระสอบ แม้จะไม่ได้ชั่งน้ำหนัก ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าน้ำตาลหนึ่งกระสอบหนัก ๖๐ ก.ก. คือหนึ่งหาบ และน้ำตาลนี้เก็บอยู่เป็นส่วนสัดโดยฉะเพาะไม่มีน้ำตาลอื่นปะปน ในการซื้อขายไม่ต้อง ชั่ง ตวง วัด หรือต้องคัดเลือกแต่อย่างใด โจทก์ได้ชำระราคาเสร็จสิ้นไปแล้ว และได้มอบให้จำเลยรักษาไว้ ดังนี้ ถือว่าการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกรรมสิทธิในน้ำตาลที่ได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๔๕๘ เมื่อทางราชการบังคับไปแล้วจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด
ส่วนน้ำตาลจำนวนหลัง ๑๗๔๐ หาบนั้นไม่มีตัวอยู่ ณ ที่ซื้อขายเป็นน้ำตาลที่จำเลยซื้อไว้จากผู้อื่น แยกกันเก็บไว้ ณ ที่ต่าง ๆ โจทก์ยังไม่ได้ตรวจดู และยังไม่ได้ชำระราคาค่าน้ำตาลให้แก่จำเลยทั้งหมด เป็นแต่วางเงินมัดจำไว้ กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ขายจะต้องนำน้ำตาลไปส่งให้ถึงผู้ซื้อถึงท่าเรือที่ผู้ซื้อนำเรือไปรับจึงถือไม่ได้ว่าการซื้อขายน้ำตาลจำนวนนี้เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดน้ำตาลยังคงเป็นของจำเลยอยู่ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบให้โจทก์เต็มตามสัญญา เมื่อจำเลยส่งไม่ได้ครบ จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์
๒. น้ำตาลในจำนวน ๑๗๔๐ หาบนั้นมีอยู่ ๔๐ หาบ ซึ่งถูกทางราชการบังคับซื้อไป ผู้แทนของโจทก์ได้มาทำความตกลงให้ทางราชการซื้อไปได้ โดยถือว่าเป็นน้ำตาลที่จำเลยโอนขายให้โจทก์เสร็จแล้ว เงินที่ทางราชการจะจ่ายให้ จำเลยก็ยอมให้เป็นของโจทก์ โดยจำเลยไม่เกี่ยวข้อง เมื่อเป็นดังนี้ จึงถือว่า น้ำตาล ๔๐ หาบนี้ โจทก์ยอมรับเป็นของโจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องชดใช้น้ำตาลจำนวนนี้ให้โจทก์
๓. น้ำตาลที่ขาดหายไป นอกจากทางราชการบังคับซื้อ โดยการละลายไหลตามธรรมชาติของน้ำตาลที่เก็บไว้นานนั้น ตามสัญญาจำเลยมีหน้าที่ส่งมอบน้ำตาลให้โจทก์เต็มตามจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน เมื่อจำเลยส่งมอบไม่ได้ครบ จำเลยก็ต้องรับผิด เพราะการขาดหายนั้น ได้เป็นไปในขณะที่น้ำตาลยังเป็นของจำเลยอยู่ ยังไม่ได้ส่งมอบให้โจทก์ และระหว่างนั้นโจทก์ไม่มีโอกาศจะขนได้ โดยยังอยู่ในระหว่างที่ทางราชการประกาศควบคุมอยู่
คดีคงฟังได้ว่า น้ำตาลจำเลยตกลงขายให้โจทก์จำนวน ๒๐๕๐ หาบ ถูกทางราชการบังคับซื้อไป ๓๕๐ หาบ จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์ได้รับไปภายหลัง ๑๔๓๗ หาบ ๙๐ ชั่ง รวมเป็น ๑๗๘๗ หาบ ๙๐ ชั่ง คงขาดไป ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเป็นจำนวน ๒๖๒ หาบ ๑๐ ชั่ง น้ำตาลที่ขาดหายนี้มีราคาในขณะรับมอบหาบละ ๘๐ บาท และเงินที่โจทก์ยังเกินอยู่ที่จำเลยอีก ๖๘.๐๙ บาท
พิพากษาแก้ ให้จำเลยคืนเงิน ๖๘.๐๙ บาทให้โจทก์ และชดใช้น้ำตาลให้โจทก์อีก ๒๖๒ บาท ๑๐ ชั่ง ถ้าส่งใช้น้ำตาลไม่ได้ ก็ให้ใช้ราคาให้โจทก์หาบละ ๘๐ บาท.

Share