แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลย ซึ่งตามกฎหมายเจ้ามรดกและจำเลยต่างมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละครึ่ง เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้ จ.สามีของโจทก์ที่ 1 เพียงหนึ่งในสี่ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดไม่เกินไปจากส่วนที่เจ้ามรดกเป็นเจ้าของ จึงอยู่ในอำนาจของเจ้ามรดกที่จะทำพินัยกรรมได้ ข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมในส่วนนี้จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย ขณะทำพินัยกรรมไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทราบว่า จ.สามีของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว ไม่มีทางได้มาซึ่งที่ดินในประเทศไทย เนื่องจากเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกันเคยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ซื้อที่ดินในประเทศไทยมาก่อน จึงเข้าใจว่า จ. คงขออนุญาตรับมรดกในส่วนของที่ดินพิพาทได้เช่นเดียวกันทั้งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 46 ก็บัญญัติให้คนต่างด้าวมีสิทธิถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ตามสนธิสัญญาต่าง ๆ และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแม้ จ.จะไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ถือครองที่ดินได้ จ. ก็ยังมีสิทธินำที่ดินพิพาทซึ่งรับมรดกมาจำหน่ายจ่ายโอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 94 ดังนี้พินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงมิได้มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ แม้จำเลยจะเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้อื่นทั้งหมดโดยจำเลยไม่ได้รับมรดกเลย จำเลยจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้ายไม่อยู่ในฐานะเป็นทายาทของเจ้ามรดกที่ยกอายุความ 10 ปีตามมาตรา 1755 มาใช้ยันต่อ จ. ผู้รับพินัยกรรมและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ จ. ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจุนเองหรือฉินอิน แซ่ลือ มีบุตรด้วยกัน3 คน คือ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 นายจุนเองเป็นบุตรของนายยกย่อง แซ่ลือ นายยกย่องเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายยกทิว แซ่ลือ จำเลยเป็นภรรยานายยกทิว เมื่อปี 2509นายยกทิวถึงแก่กรรม ก่อนถึงแก่กรรมนายยกทิวได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินของตนให้บุตรและหลาย โดยตั้งให้นายดำรงค์ ปริธัญ เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งในพินัยกรรมดังกล่าวข้อ 1(1) นายยกทิวระบุให้ยกที่ดินตามส.ค.1 เลขที่ 89/2498 ตำบลสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลกจังหวัดนราธิวาส ให้แก่นายจุนเองจำนวนหนึ่งในสี่ส่วนของที่ดินทั้งหมด คำนวณเนื้อที่ 56.25 ตารางวา หลังจากที่นายยกทิวถึงแก่กรรม นายดำรงค์ได้เข้าจัดการมรดกตามพินัยกรรมและจัดส่งมอบที่ดินตามพินัยกรรมให้นายจุนเองเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้ตามส่วน ต่อมานายจุนเองได้มอบหมายให้นายดำรงค์เป็นผู้เก็บผลประโยชน์ส่งแก่นายจุนเองและโจทก์ทั้งสี่ตลอดมา เมื่อปี 2514 นายจุนเองได้ถึงแก่กรรม นายดำรงค์ก็ยังคงดูแลเก็บผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวส่งโจทก์ทั้งสี่โดยไม่มีบุคคลอื่นใดเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อปี 2532 นายดำรงค์ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสี่ได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกในส่วนดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 โจทก์ทั้งสี่มอบอำนาจให้นายวีระชัย ปริธัญ บุตรชายนายดำรงค์ไปดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านการออกโฉนดอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายยกทิวช่วยกันซื้อมาเมื่อประมาณปี 2483 ขอให้ระงับการออกโฉนด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาสไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้อันเป็นการรอนสิทธิและเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ในการที่นายดำรงค์ได้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้นจำเลยทราบข้อความในพินัยกรรมดี แต่ไม่เคยคัดค้านหรือโต้แย้งข้อความในพินัยกรรมแต่อย่างใด และเป็นการกล่าวอ้างที่ล่วงเลยระยะเวลาที่เจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมมาเกินกว่า 1 ปี แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิมาคัดค้าน ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง ห้ามจำเลยไปคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยไปเพิกถอนคำร้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส หากจำเลยไม่ไปเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยกทิว แซ่ลือ เจ้ามรดก ทรัพย์สินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมทุกอย่างเป็นสินสมรส การที่เจ้ามรดกที่พิพาทบางส่วนให้แก่นายจุนเองนั้น เป็นการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินสมรสเกินส่วนโดยจำเลยไม่ยอม เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ จำเลยเพิ่งทราบว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่นายจุนเองเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วจำเลยได้โต้แย้งคัดค้าน นายจุนเองจึงได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าไม่ขอรับมรดกใด ๆ ตามพินัยกรรม และนายดำรงค์ ปริธัญผู้จัดการมรดกก็ทราบดี ฟ้องโจทก์ที่ว่านายจุนเองมอบหมายให้นายดำรงค์เป็นผู้ดูแลเก็บผลประโยชน์ในที่พิพาทแทนไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมมีแต่จำเลยเพียงผู้เดียวเป็นผู้ดูแลครอบครองเก็บผลประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 40 ปี จำเลยย่อมมีสิทธิครอบครอง โจทก์ไม่ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เจ้ามรดกถึงแก่กรรมมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ไม่ฟ้องขอแบ่งภายใน 10 ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความ นายจุนเองเป็นคนต่างด้าว ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกที่พิพาทให้บุคคลต่างด้าวเป็นการขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะ
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นายจำรัส ปริธัญ ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยคัดค้านการขอออกโฉนดที่พิพาท ให้จำเลยไปเพิกถอนคำร้องคัดค้านการขอออกโฉนดที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายยกทิว แซ่ลือ โดยต่างเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติจีนและสัญชาติจีน นายยกทิวถึงแก่กรรมเมื่อปี 2509 ก่อนถึงแก่กรรมได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 89/2498 ตั้งอยู่หมู่ที่ 2ตำบลสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่2 งาน 25 ตารางวา เอกสารหมาย จ.11 ให้เด็กชายวิจารณ์หรือพิจารณ์ ปริธัญ ซึ่งเป็นหลานสามส่วน และให้นายจุนเองหรือจุ่นเองหรือฉินอิน แซ่ลือบุตรของน้อยชายซึ่งเป็นสามีของโจทก์ที่ 1 หนึ่งส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 56.25 ตารางวา และตั้งให้นายดำรงค์หรือจินหัว ปริธัญหรือแซ่ลือ เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเอกสารหมาย จ.1 นายจุนเองเป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับนายยกทิวมีบุตรกับโจทก์ที่ 1 คือโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 โจทก์ทั้งสี่เป็นบุคคลสัญชาติไทยนายจุนเองถึงแก่กรรมเมื่อปี 2514 โดยยังมิได้ขอรับมรดกตามพินัยกรรมซึ่งจำเลยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายยกทิวที่ทำมาหาได้ร่วมกัน จึงมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันตลอดไป นายยกทิวมีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดได้ก็เฉพาะส่วนของนายยกทิวเท่านั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าพินัยกรรมฉบับนี้มีผลบังคับหรือไม่ เห็นว่าแม้จะได้ความว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายยกทิวกับจำเลยก็ตาม ซึ่งตามกฎหมายนายยกทิวกับจำเลยย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินพิพาทคนละครึ่ง เมื่อปรากฏว่านายยกทิวทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้นายจุนเองสามีโจทก์ที่ 1 เพียงหนึ่งในสี่ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมด หาได้เกินส่วนที่นายยกทิวมีสิทธิเป็นเจ้าของไม่ จึงอยู่ในอำนาจของนายยกทิวที่จะทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใดได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยก่อน ข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายยกทิวที่ยกที่พิพาทให้นายจุนเองสามีโจทก์ที่ 1 หนึ่งในสี่ส่วนจึงมีผลบังคับตามกฎหมายเพราะมิได้ทำให้เสื่อมสิทธิของจำเลยในฐานะเจ้าของร่วมแต่อย่างใดฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อมามีว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกที่พิพาทให้นายจุนเองซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้จะได้ความว่านายยกทิวทราบดีว่านายจุนเองสามีโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับตนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า ขณะทำพินัยกรรมของนายยกทิวทราบว่านายจุนเองสามีโจทก์ที่ 1 ไม่มีทางได้มาซึ่งที่ดินในประเทศไทยได้เลย และเนื่องจากนายยกทิวเคยขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซื้อที่ดินได้มาก่อน จึงเข้าใจว่านายจุนเองก็คงขออนุญาตรับมรดกที่ดินได้เช่นกัน เพราะหากทราบว่าขณะนั้นมีประกาศมหาดไทย ตามเอกสารหมาย ล.5 ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติจีนขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินในประเทศไทยแล้ว ก็เชื่อว่านายยกทิวคงไม่ฝ่าฝืนทำพินัยกรรมในลักษณะเช่นนั้น น่าเชื่อว่าขณะทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 นายยกทิวไม่ทราบว่ามีประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวใช้บังคับอยู่จึงไม่อาจรับฟังได้ว่านายยกทวิมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนข้อบังคับของราชการ ประกอบทั้งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวยังอาจมีที่ดินได้ในเมื่อมีสนธิสัญญาให้คนต่างด้าวมีที่ดินในประเทศไทยและในเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วซึ่งแม้นายจุนเองจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีที่ดินได้ก็ตามนายจุนเองก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินมรดกต่อไปได้ภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 94 บัญญัติไว้ พินัยกรรมของนายยกทิวตามเอกสารหมาย จ.1จึงมิได้มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะประกาศกระทรวงมหาดไทยเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลลบล้างสิทธิของนายจุนเองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 94ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกที่พิพาทให้นายจุนเองซึ่งเป็นคนต่างด้าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและได้ความจากนายเพิ่ม กาวชู พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงว่าบุตรนายจุนเองสามารถนำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 มาขอรับโอนที่ดินตามพินัยกรรมและออกโฉนดได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อมามีว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายยกทิวที่ยกที่พิพาทให้นายจุนเองสามีโจทก์ที่ 1 ไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อนายจุนเองถึงแก่กรรมในปี 2514 ที่พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายจุนเองตามกฎหมาย ซึ่งแม้นายจุนเองและโจทก์ทั้งสี่จะมิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทเลยก็ตาม ก็ถือว่านายดำรงค์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแทนนายจุนเองและโจทก์ทั้งสี่ตลอดมาจนกระทั่งนายดำรงค์ถึงแก่กรรมในปี 2532และแม้จำเลยจะอ้างว่าเคยให้นายลือเลี่ยงเพ็ก แซ่ลือเช่าที่พิพาทก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายดำรงค์ไม่เคยถูกเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกจนกระทั่งถึงแก่กรรม จึงไม่น่าเชื่อว่านายดำรงค์จะยินยอมปล่อยปละละเลยให้จำเลยนำที่ดินมรดกไปให้ผู้อื่นเช่าในนามของตนเองโดยปราศจากการควบคุมดูแลของนายดำรงค์ในฐานะผู้จัดการมรดกตลอดมา ทั้งหลังจากนายดำรงค์ถึงแก่กรรมแล้วก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทแต่อย่างใด และเนื่องจากจำเลยไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนายยกทิวเลยจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่าขณะที่นายดำรงค์ครอบครองที่ดินมรดกแทนนายจุนเองนั้นนายดำรงค์ได้นำที่ดินไปให้นายลือเลี่ยงเพ็ก แซ่ลือเช่าเมื่อเก็บค่าเช่ามาแล้วนายดำรงค์จะนำมาแบ่งให้โจทก์ที่ 1ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งให้แก่จำเลยและจะเหลือไว้สำหรับเสียภาษีเกี่ยวกับที่ดินด้วย ทั้งปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรนายจุนเองเป็นผู้เสียภาษีที่ดินตั้งแต่ปี 2530 ถึงปี 2535ตามใบเสร็จภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย จ.5 อันเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่นายดำรงค์ยังไม่ถึงแก่กรรมและแม้จำเลยจะคัดค้านการขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 3 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งอาจถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาท แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในวันที่ 15 มิถุนายน 2535 ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า นายยกทิวเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกินกว่า 10 ปี แล้วโจทก์ทั้งสี่ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความ เห็นว่าแม้จำเลยจะเป็นทายาทโดยธรรมของนายยกทิวเจ้ามรดกก็ตามแต่เมื่อนายยกทิวทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้อื่นทั้งหมดโดยจำเลยไม่ได้รับมรดกเลย จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608วรรคท้ายบัญญัติไว้ ทั้งนี้โดยเจ้ามรดกไม่จำต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม (2) ของบทบัญญัติดังกล่าวอีก ฉะนั้นจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมจึงไม่อยู่ในฐานะที่เป็นทายาทของผู้ตายตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 จำเลยจะอ้างอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 1755 มาใช้ยันต่อนายจุนเองผู้รับพินัยกรรมและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายจุนเองหาได้ไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ที่ 43/2492 ระหว่างนายอุทัย สุขนาวา โจทก์นางน่วม เลื่อมอารมณ์ จำเลย ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน