คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7187/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งโดยโจทก์มอบหมายให้ จ. กระทำการแทนแต่ละครั้งจำเลยจะนำสัญญากู้มามอบให้ จ. และจำเลยจะนำเช็คมามอบให้เพื่อเป็นการชำระหนี้หลังจากวันทำสัญญากู้ แต่เช็คเหล่านั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นจำเลยขอกู้เพิ่มจึงมีการทำสัญญากันใหม่โดยในการกู้ยืมแต่ละครั้งมีการชำระดอกเบี้ยมาแล้ว โดยจำเลยก็นำเงินสดมาชำระดอกเบี้ยในวันที่นำเช็คมาชำระหนี้เงินกู้เช่นเดียวกับครั้งเช็คพิพาท ซึ่งหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทแล้วจำเลยยังชำระดอกเบี้ยมาตลอด ดังนั้น การที่ จ. ไม่สนใจเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งได้ประพฤติเช่นนี้ตลอดมาหลายครั้งจนถึงเช็คพิพาทซึ่งหลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วก็ยังยอมรับเงินค่าดอกเบี้ยจากจำเลยเรื่อยมา อีกทั้ง จ. ก็ทราบฐานะทางการเงินของจำเลยว่าขาดสภาพคล่อง และยังยอมรับเงินค่าดอกเบี้ยโดยไม่ดำเนินคดีกับผู้ออกเช็ค แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก่อนหน้านี้ จำเลยได้ออกเช็คพิพาทให้กับโจทก์ในลักษณะเดิมที่ปฏิบัติต่อกันมา แสดงว่าโจทก์และจำเลยไม่มีความประสงค์จะให้ผูกพันกันตามเช็คพิพาท โดยโจทก์รับเช็คพิพาทไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้เท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

ก่อนครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายเจริญชัย กิจเวคินผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มอบให้พยานเป็นตัวแทนในการดำเนินการให้กู้ยืมเงิน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ซึ่งเมื่อรวมกับหนี้เงินกู้เดิมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 8,500,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้นำสัญญากู้ มามอบให้แก่พยานไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาประมาณปลายเดือนเมษายน 2540 จำเลยที่ 2นำเช็คพิพาทมามอบให้พยานเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่าสั่งจ่ายจากจำนวนที่มีตราสารรอเรียกเก็บเงินอยู่เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยตรง แต่โจทก์มอบหมายให้นายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์กระทำแทน ดังนั้นการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง ในการกู้ยืมแต่ละครั้ง จำเลยที่ 2 จะนำสัญญากู้มามอบให้พยาน หลังจากวันทำสัญญากู้แล้ว จำเลยที่ 2 จะนำเช็คมามอบให้พยานเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ แต่เช็คเหล่านั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ขอกู้เพิ่มแล้วจึงมีการทำสัญญากู้กันใหม่ ในการกู้ยืมแต่ละครั้งมีการชำระดอกเบี้ยมาแล้ว โดยในวันที่นำเช็คมาชำระหนี้เงินกู้ก็นำเงินสดมาชำระดอกเบี้ยในวันที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมามอบให้พยาน จำเลยที่ 2 ได้นำเงินมาชำระดอกเบี้ยด้วย หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทแล้ว จำเลยยังชำระดอกเบี้ยมาตลอด ดังนั้น การที่นายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยอมรับเงินค่าดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 และทำสัญญากู้เงินใหม่ ย่อมแสดงให้เห็นว่านายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่สนใจเช็คที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายให้แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งได้ประพฤติเช่นนี้ตลอดมาหลายครั้งจนถึงกรณีเช็คพิพาท ซึ่งหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว นายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ยังยอมรับเงินค่าดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2เรื่อยมา นอกจากนี้นายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความรับอีกว่าการกู้ยืมเงินครั้งก่อน ๆ นั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ชำระโดยอ้างว่าขาดสภาพคล่อง จึงต้องมีการกู้ยืมเงินครั้งต่อ ๆ มา เหตุที่พยานทราบว่าจำเลยที่ 1 ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากพยานเคยไปดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อนายเจริญชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 ว่าขาดสภาพคล่อง ประกอบกับยังยอมรับเงินค่าดอกเบี้ยโดยไม่ดำเนินคดีผู้ออกเช็ค แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คก่อนหน้านี้ดังกล่าว ทั้งจำเลยทั้งสามออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ในลักษณะเดิมที่เคยปฏิบัติต่อกันมาแสดงว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่มีความประสงค์จะให้ผูกพันกันตามเช็คพิพาท โดยโจทก์รับเช็คพิพาทไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้เท่านั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share