แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงรับกันว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมผ่อนชำระหนี้จนกว่าจะครบ แต่ประสบปัญหาการเงิน จึงผ่อนชำระหนี้เพียงบางส่วน ข้อตกลงตามฎีกามิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแต่เป็นกรณีต้องผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลงจนครบถ้วนจึงจะถือว่าคดีอาญาระงับจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 4 (1)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,500 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 เดือน 15 วัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาจำเลยที่ 2 ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ตกลงชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์เดือนละ 10,000 บาท ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 2 นำที่ดินเสนอขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน หากได้รับอนุมัติ จำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้โจทก์ โปรดมีคำสั่งรับฎีกาไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงรับกันว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมผ่อนชำระหนี้จนกว่าจะครบแต่ประสบปัญหาการเงิน จึงผ่อนชำระหนี้เพียงบางส่วน ข้อตกลงในการชำระหนี้ดังกล่าวทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เป็นกรณีต้องผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลงจนครบถ้วนจึงจะถือว่าคดีอาญาระงับ จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”