คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่รถแล่นคนละช่อง ต้องรักษาช่องเดินรถของตนเมื่อจะเปลี่ยนช่องต้องระวังมิให้กีดขวางรถที่แล่นอยู่ในช่องนั้นๆ เมื่อจะเลี้ยวรถทางซ้ายจะต้องแล่นชิดขอบทางด้านซ้าย จะเลี้ยวได้เมื่อสามารถกระทำได้โดยปลอดภัย ถ้าหากแล่นเข้าไปกีดขวางในช่องทางเดินรถอื่นแล้วอันตรายเกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนจะต้องรับผิดเมื่อให้สัญญาณเลี้ยวแล้ว จะเลี้ยวทันทีไม่ได้ เพราะไม่สามารถจะป้องกันอันตรายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แล่นมาในเส้นทางเดียวกัน โดยจำเลยที่ 1 ขับรถอยู่หน้าจำเลยที่ 2 ขับรถตามหลังห่างกันประมาณ 12 เมตร จำเลยที่ 1 จะเลี้ยวรถเข้าซอยทางซ้ายมือ ได้เบนรถเข้ามาทางขวาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยโดยไม่ได้มองทางท้ายรถว่ามีรถอื่นตามมาในระยะต่ำกว่า15 เมตรหรือไม่ จำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วประมาณ25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ดูสัญญาไฟเลี้ยวรถของจำเลยที่ 1 เมื่อเห็นรถจำเลยที่ 1 เลี้ยวจะเข้าซอยดังกล่าว แทนที่จะหยุดรถหรือหักรถไปทางขวามือกลับหักรถไปทางซ้ายมือ เป็นเหตุให้รถจำเลยที่ 2 ชนรถจำเลยที่ 1 คนนั่งซ้อนท้ายได้รับอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากความประมาทของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ให้จำคุก 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประมาท พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีนี้เหตุเกิดในถนนสุขุมวิทซึ่งมีความกว้างข้างละ 10.20 เมตร ข้างหนึ่งแบ่งช่องทางเดินรถเป็น 3 ช่อง ช่องที่ 1 กว้าง 3.50 เมตรรถยนต์บรรทุกแล่นคร่อมช่องที่ 1 และช่องที่ 2 โฉมหน้าไปทางสี่แยกราชประสงค์ มีรถจักรยานยนต์สองล้อของจำเลยที่ 2 แล่นในช่องที่ 1 ห่างขอบถนนทางซ้าย 1 เมตร อยู่ห่างรถยนต์บรรทุกทางด้านหลัง 12 เมตร (ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์) พอรถยนต์บรรทุกแล่นไปใกล้ปากซอยบ้านกล้วยใต้ ยังห่าง 8 เมตร รถยนต์บรรทุกเข้าไปแล่นอยู่ในช่องที่ 3 เต็มคัน ครั้นรถยนต์บรรทุกแล่นไปห่างปากซอย 3 เมตร รถยนต์บรรทุกก็เลี้ยวเข้าซอยทางด้านซ้ายเฉียงขวางทางรถในช่องที่ 1 รถจักรยานยนต์จึงห้ามล้อ มีรอยห้ามล้อเป็นทางยาว 5.30 เมตร ไปถึงปากซอย จุดที่ชนอยู่ตรงปากซอยในช่องที่ 1 ห่างขอบทางด้านซ้าย1 เมตร ชนแล้วรถจักรยานยนต์เข้าไปใต้ท้องรถยนต์บรรทุกรถยนต์บรรทุก

ได้พารถจักรยานยนต์ครูดเข้าไปในซอย 5.60 เมตรจึงหยุดท้ายรถบรรทุกพอดีกับปากซอยตัวรถบรรทุกยาว 6.20 เมตร รถยนต์บรรทุกคันนี้บรรทุกส้มมะขามเปียก 60 เข่ง น้ำหนัก 4 ตัน

ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่รถแล่นคนละช่องต้องรักษาช่องเดินรถของตน เพราะรถที่เดินในช่องอื่นย่อมแน่นขนานหรือผ่านไปได้ในช่องเดินรถของเขารถที่แล่นช่องกลางอย่างรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เมื่อจะเลี้ยวซ้ายหรือขวาหรือขึ้นหน้ารถอื่นซึ่งจะต้องแล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถช่องที่ 1 และช่องที่ 3 มีหน้าที่ต้องระมัดระวังมิให้แล่นตัดหน้ารถอื่นในช่องทางเดินรถนั้น ๆ รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 เลี้ยวเฉียงซ้ายเข้าซอยบ้านกล้วยใต้จะต้องขวางทางเดินรถในช่องที่ 1 การเลี้ยวรถทางซ้าย รถจะต้องเดินชิดขอบซ้ายของทางตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9 วรรค 2 แต่รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติเช่นนั้น อ้างว่าซอยหักเป็นข้อศอกต้องตีวงให้กว้างจึงจะเข้าซอยได้ รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 จึงแล่นในช่องกลางและแล่นเฉียงเข้าไปในช่องที่ 1 ก่อนถึงปากซอย 3 เมตร ในกรณีเช่นนี้รถยนต์บรรทุกมีหน้าที่จะต้องระวังไม่ให้กีดขวางรถอื่นในช่องนั้น และสามารถกระทำได้โดยปลอดภัยเพราะเป็นที่เห็นได้ว่า หากแล่นเข้าไปกีดขวางในช่องทางเดินรถอื่นแล้วอันตรายจะเกิดขึ้นเพราะการกระทำของตน แต่ฝ่ายรถยนต์บรรทุกหาได้ระมัดระวังไม่ โดยได้แล่นเฉียงเข้าไปทั้ง ๆ ที่มีรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 แล่นอยู่ในช่องที่ 1 ในระยะใกล้ ทั้งนี้ ได้ความว่ารถยนต์บรรทุกมีเข่งส้มมะขามเปียกบรรทุกอยู่ถึง 60 เข่ง คนขับรถบรรทุกนั่งอยู่ทางขวาของรถไม่เห็นรถที่แล่นในช่องที่ 1 ในระยะใกล้มาก นายแอนที่นั่งข้างคนขับทางซ้ายก็มองไม่เห็นรถใกล้เช่นกันจึงบอกว่าหลังว่างเลี้ยวได้ รถยนต์บรรทุกจึงแล่นเฉียงเข้าไปในช่องที่ 1 ทันที เพื่อจะเลี้ยวเข้าซอย เมื่อรถจักรยานยนต์เห็นดังนั้นจึงเริ่มห้ามล้อ แต่ระยะใกล้เพียง 5.30 เมตร ไม่สามารถจะหยุดได้ทัน เพราะรถยนต์บรรทุกแล่นเฉียงเข้ามาอย่างกระทันหัน ดังจะเห็นได้ว่า แม้รถชนกันแล้วรถยนต์บรรทุกยังครูดพารถจักรยานยนต์เข้าซอยไปอีก 5.60 เมตร การที่รถชนกันนี้จึงเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำรถเข้ามาขวางทางแล่นในช่องของรถจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จะแก้ตัวว่าได้ให้สัญญาณแล้วหาได้ไม่ เพราะการให้สัญญาณแล้วเลี้ยวทันที ไม่สามารถจะป้องกันอันตรายได้ ส่วนข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ขับรถเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อใกล้จะผ่านซอยบ้านกล้วยใต้ซึ่งเป็นทางแยกนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถเข้ามาขวางทางแล่นในช่องของจำเลยที่ 2 โดยกระชั้นชิด แม้จะขับรถเร็วน้อยกว่านี้ก็ต้องชนอยู่นั่นเอง หาใช่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทถูกต้องแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาโจทก์

Share