คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7168/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. มัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 9 บัญญัติว่า ในการดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิด และมีระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 ข้อ 4 ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจะพึงมีได้แห่งละไม่เกิน 15 คน กอร์ปด้วยอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อิหม่ามเป็นประธานกรรมการ คอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์มีทั้งหมดรวม 15 คน การดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์จึงต้องกระทำโดยเสียงข้างมากคือตั้งแต่ 8 คน ขึ้นไป แต่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้มีคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เพียง 7 คน ถึงแม้ว่ากรรมการมัสยิดโจทก์อีก 1 คน จะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงการลงชื่อในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจ หาได้ลงชื่อในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจไม่ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์จึงเป็นการดำเนินงานที่มิได้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 29 และ 29/1 หมู่ที่ 1 แขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และเสาที่ปักอยู่ตามถนนกับรั้วลวดหนามออกจากที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 200 ตารางวา หากให้บุคคลอื่นเช่าโดยไม่คิดค่าหน้าดินจะได้ค่าเช่าอย่างน้อยเดือนละ 2,300 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์เรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ต่อไปอีก
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 พ.ร.บ. มัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง โดยมาตรา 9 บัญญัติว่า ในการดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิด และมีระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ.2492 ข้อ 4 ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จะพึงมีได้แห่งละไม่เกิน 15 คน กอร์ปด้วยอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อิหม่ามเป็นประธานกรรมการ คอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีนายชาตรีเป็นอิหม่าม นายอาหะหมัดเป็นคอเต็บ นายวิสูตรเป็นบิหลั่น และมีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจากการเลือกตั้งอีก 12 คน คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์จึงมีทั้งหมดรวม 15 คนการดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิด โจทก์จึงต้องกระทำโดยเสียงข้างมากคือตั้งแต่ 8 คน ขึ้นไป แต่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้ ตามเอกสารหมายจ.3 มีคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เพียง 7 คน ถึงแม้ว่านายกวีศักดิ์ กรรมการมัสยิดโจทก์อีก 1 คน จะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงการลงชื่อไปในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น นายกวีศักดิ์หาได้ลงชื่อไปในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจแต่อย่างใดไม่ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินงานที่มิได้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. มัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ดังกล่าว เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและปราศจากอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ปัญหานี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์และจำเลยมิได้ฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ปัญหาอื่นตามฎีกาโจทก์จึงไม่ต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share