คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ที่ 2จะไม่มีรูปสิงโตและดาวภายในวงกลมอยู่ตรงกลางเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ โดยมีแต่รูปวงกลมอยู่ตรงกลางเครื่องหมายการค้าเท่านั้น แต่ตอนบนของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอจดทะเบียนดังกล่าว มีข้อความเป็นตัวอักษรโรมันอ่านว่า ไลอ้อนแบรนด์เหมือนกัน ถัดจากตัวอักษรโรมันดังกล่าว ยังมีข้อความเป็นอักษรโรมันและอักษรจีนที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ตลอดจนมีอักษรไทยเขียนว่าผงวุ้นชั้นพิเศษตราไลอ้อนเหมือนกันตัวอักษรทั้งสามภาษาดังกล่าวมีขนาดใกล้เคียงกันและถูกจัดวางในลักษณะเดียวกัน ส่วนตอนล่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็เป็นชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ และห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างก็มีคำว่าพัฒนาสินอยู่ด้วย พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างใช้กับสินค้าผงวุ้นเหมือนกันตลอดจนอาจถูกเรียกขานว่าตราไลอ้อนได้เหมือนกัน จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าว เป็นเครื่องหมายการค้าที่เกือบเหมือนกันใช้สำหรับสินค้าเดียวหรือชนิดเดียวกันตามนัยมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474
แม้จำเลยที่ 2 จำหน่ายผงวุ้นบรรจุซองพลาสติกร่วมกับโจทก์มาแต่แรก ก็เป็นเพียงช่วยจำหน่ายในฐานะลูกจ้างโจทก์เท่านั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีข้อความและภาพเกือบเหมือนกับที่โจทก์ใช้บรรจุผงวุ้นมาก่อนดีกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2
การนำเอาเหตุผลในคำพิพากษาฎีกาในคดีซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ในคดีนี้มาประกอบคำเบิกความของพยาน เพื่อวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้มิใช่เป็นการนำคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวมาผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีก่อน.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีนางวรวรรณ อวกุล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปสิงโตดาวโดยมีวงกลมล้อมรอบ ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอที่ 84746 ทะเบียนเลขที่ 77733 สำหรับสินค้าจำพวก 42 โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าผงวุ้นมาเป็นเวลานานกว่า 10ปีแล้วเป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วไป ในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ใช้ไปพร้อมกับซองบรรจุสินค้าผงวุ้นตลอดมาเป็นเวลานาน และเพื่อได้รับความคุ้มครองสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้านี้ โจทก์จึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอเลขที่ 129107แต่นายทะเบียนแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอเลขที่ 114696, 116852 และ 125221นายทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้จนกว่าโจทก์จำเลยจะได้ตกลงกัน หรือศาลได้ชี้ขาดแล้ว จำเลยได้ลอกเลียนดัดแปลงและนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียนโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โดยทราบอยู่แล้วว่าเป็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เคยฟ้องนางวรวรรณ อวกุล หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ต่อศาลแพ่ง เกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้านี้และศาลฎีกาได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่6064/2522 หมายเลขแดงที่ 3709/2523 แต่จำเลยทั้งสองกลับนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงต่อเติมแล้วยื่นคำขอจดทะเบียนโดยจงใจให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าหลงผิด ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนนั้นเสีย จำเลยก็เพิกเฉยทำให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 129107 ของโจทก์ได้ ขอให้ศาลสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเลขที่ 129107 ของโจทก์ และพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้แต่ผู้เดียวห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องใช้ และไม่ให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 114696, 116852 และ 125221 หรือคำขออื่นใดในลักษณะเดียวกันอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางวรวรรณ อวกุล จะมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่รับรอง โจทก์มิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง แต่เครื่องหมายการค้าเป็นของนางวรวรรณ อวกุล ในฐานะส่วนตัว โดยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยจำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนเป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้าเป็นภาษาโรมันว่า ไลอ้อน มีเครื่องหมายการค้าตราสิงโตยืนอยู่ในวงกลมตั้งแต่ พ.ศ. 2508แต่มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2ได้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์ จึงได้มอบเครื่องหมายดังกล่าวให้โจทก์ยืมใช้สำหรับสินค้าประเภทผงวุ้นบรรจุซอง เมื่อปีพ.ศ. 2515 จำเลยที่ 2 ได้ตั้งห้างจำเลยที่ 1 ขึ้นโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ แล้วได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้คิดขึ้นนั้นบนซองผงวุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วยซึ่งโจทก์และนางวรวรรณทราบดีแต่ไม่ได้ทักท้วงเมื่อปีพ.ศ. 2516 จำเลยที่ 2 ได้ขายหุ้นส่วนของตนในห้างโจทก์ให้แก่นางวรวรรณ อวกุล และในปี พ.ศ. 2517 นางวรวรรณในฐานะส่วนตัวได้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนโดยมิชอบเครื่องหมายการค้าตามฟ้องที่จำเลยทั้งสองขอจดทะเบียนนั้นจำเลยได้คิดขึ้นและใช้กับสินค้าผงวุ้น ได้ทำการโฆษณาแพร่หลายและไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าที่นางวรวรรณและโจทก์ได้จดทะเบียนไว้และโจทก์จำเลยต่างใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจนเป็นที่รู้จักของผู้ใช้ดีแล้วจำเลยมีสิทธิที่จะใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ โจทก์เป็นฝ่ายจดทะเบียนเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 129107 ของโจทก์ได้คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อปี พ.ศ. 2506 ประกอบกิจการซื้อขายเครื่องกระป๋องตลอดจนจำหน่ายผงวุ้นแบบบรรจุใส่ซองพลาสติก เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วจำเลยที่ 2 ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่สั่งสินค้าจากต่างประเทศและขายสินค้าเมื่อปี พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2512 จำเลยที่ 2 สั่งผงวุ้นบรรจุซองพลาสติกตราไลอ้อน ซึ่งมีลักษณะซองเช่นเดียวกับซองบรรจุผงวุ้นตามเอกสารหมาย ล. 3 จากประเทศญี่ปุ่นมาจำหน่ายโดยใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่าย ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จำเลยที่ 2 ได้แยกออกมาตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำหน่ายผงวุ้นแบบบรรจุใส่ซองพลาสติกตราไลอ้อน ซึ่งเป็นตราเดียวกับตราของโจทก์ทั้งซองพลาสติกบรรจุผงวุ้นก็มีลักษณะเหมือนกับซองพลาสติกบรรจุผงวุ้นของโจทก์ จะแตกต่างกันเฉพาะข้อความที่ทำให้ทราบว่าผงวุ้นของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31มกราคม 2526 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีข้อความและภาพเกือบเหมือนกับข้อความและภาพด้านหน้าซองพลาสติกบรรจุผงวุ้นที่โจทก์จำหน่ายดังกล่าว คือ คำขอจดทะเบียนเลขที่ 129107 ตามเอกสารหมาย จ. 13 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 114696 และ 116852ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอจดทะเบียนไว้ปรากฏตามหนังสือของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ. 7 นอกจากจำเลยที่ 1ที่ 2 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 125221 ไว้ด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2526 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2526 ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 114696 และ 125221ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนจึงมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เลขที่ 129107 ตามเอกสารหมาย จ. 13 เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ที่ 2เลขที่ 116852 ตามเอกสารหมาย จ. 9 หรือไม่ เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ที่ 2เลขที่ 116852 จะไม่มีรูปสิงโตและดาวภายในวงกลมอยู่ตรงกลางเครื่องหมายการค้าเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เลขที่ 129107 โดยมีแต่รูปวงกลมอยู่ตรงกลางเครื่องหมายการค้าเท่านั้น แต่ตอนบนของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอจดทะเบียนดังกล่าว มีข้อความเป็นตัวอักษรโรมันอ่านว่าไลอ้อน แบรนด์ เหมือนกัน ถัดจากตัวอักษรโรมันดังกล่าวเครื่องหมายการค้าทั้งสองยังมีข้อความเป็นอักษรโรมันและอักษรจีนที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันตลอดจนมีตัวอักษรไทยเขียนว่าผงวุ้นชั้นพิเศษตราไลอ้อนเหมือนกันและตัวอักษรทั้งสามภาษาดังกล่าวมีขนาดใกล้เคียงกันและถูกจัดวางในลักษณะเดียวกันส่วนตอนล่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็เป็นชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างก็มีคำว่าพัฒนาสินอยู่ด้วย พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากัน เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างใช้กับสินค้าผงวุ้นเหมือนกันตลอดจนอาจถูกเรียกขานว่าตราไลอ้อนได้เหมือนกัน จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าว เป็นเครื่องหมายการค้าที่เกือบเหมือนกันใช้สำหรับสินค้าเดียวหรือชนิดเดียวกันตามนัยมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิที่จะได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดีกว่ากันนั้น ข้อนี้จำเลยที่ 2เบิกความว่าโจทก์จำหน่ายผงวุ้นบรรจุซองพลาสติกตราไลอ้อนมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2511 หรือ พ.ศ. 2512 โดยจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ในขณะนั้นเป็นผู้สั่งผงวุ้นดังกล่าวจากประเทศญี่ปุ่นมาจำหน่ายในนามของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ช่วยจำหน่ายผงวุ้นดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2514 จึงได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนของโจทก์และได้แยกออกมาตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2515 และดำเนินการค้าผงวุ้นตราไลอ้อนโดยบรรจุซองที่มีลักษณะเหมือนกับซองผงวุ้นของโจทก์นับแต่นั้น เห็นว่าข้อความและภาพตามเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เลขที่ 129107 นั้น เกือบเหมือนกันกับข้อความและภาพด้านหน้าซองพลาสติกที่โจทก์ใช้บรรจุผงวุ้นเพื่อจำหน่ายมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 2 จะแยกออกมาตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จำหน่ายผงวุ้นบรรจุซองพลาสติกตราไลอ้อนที่มีลักษณะเหมือนกับซองพลาสติกที่โจทก์ใช้โดยมีข้อแตกต่างเพียงชื่อและที่อยู่ของผู้จำหน่ายแม้จำเลยที่ 2 จะอ้างในข้อนี้ว่าได้จำหน่ายผงวุ้นบรรจุซองพลาสติกดังกล่าวร่วมกันมากับโจทก์ตั้งแต่แรก ก็เป็นเพียงการช่วยจำหน่ายในฐานะลูกจ้างโจทก์เท่านั้น ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีข้อความและภาพเกือบเหมือนกันกับข้อความและภาพด้านหน้าซองพลาสติกที่โจทก์ใช้บรรจุผงวุ้นเพื่อจำหน่ายมาก่อนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดีกว่าสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีข้อความและภาพเกือบเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาฎีกาซึ่งตัดสินไว้ในคดีแดงที่ 3709/2523 ของศาลชั้นต้น (คงหมายถึงคำพิพากษาฎีกาที่ 471/2525)ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนางวรวรรณ อวกุล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์คดีนี้ มาผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพียงแต่นำเหตุผลในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์และคำเบิกความของพยานจำเลย เพื่อวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับจดทะเบียนในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอไว้ดีกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้นำคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวมาผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 โดยตรง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2จึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เลขที่ 129107 แล้วก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องคดีนี้อีกต่อไปนั้นปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นได้สอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้ก่อนอ่านคำพิพากษา โจทก์ได้ยื่นหนังสือของกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้าที่ พณ. 0507.01/2801 ที่มีไปถึงนางวรวรรณอวกุล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ แจ้งว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เลขที่ 129107 เป็นการสั่งโดยผิดหลงและความบกพร่องของเจ้าหน้าที่นายทะเบียนได้สั่งการให้พื้นคำขอจดทะเบียนดังกล่าวขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้รอคดีดำขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 129107ไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2527 เมื่อพิเคราะห์ข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นฎีกาและรูปคดีแล้ว เห็นว่าแม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ก็ไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะยกปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นวินิจฉัยให้ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่านางวรวรรณ อวกุล ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตราสิงโตและดาว ซึ่งปรากฏอยู่ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 129107 ของโจทก์ โจทก์ผู้รับโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากนางวรวรรณ จึงไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย เห็นว่าเป็นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งถึงที่สุดไปแล้วและไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ และที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์เลขที่ 129107 มีข้อความว่าโจทก์เป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ยกปัญหานี้ขั้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้เช่นกัน’
พิพากษายืน.

Share