คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่… พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับนั้น พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ได้สิ้นผลบังคับไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่ามีการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าวโดยมิได้มีการออก พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงเข้ากรณีตามมาตรา 23 ที่ว่าในกรณีที่มีการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 โดยมิได้มีการออก พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 6 และ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นมิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 โดยอนุโลม คือต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงราคากับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 21 (1) ถึง (5) ในวันที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2535 แจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายใน 7 วัน โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 และได้รับเงินไปในวันเดียวกันนั้นเอง จึงถือได้ว่าวันที่ 28 กันยายน 2535 เป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคท้าย เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามที่ศาลวินิจฉัยจึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่จะได้รับเพิ่มด้วย ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 เป็นต้นไป ไม่ใช่นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนจากการถูกเวนคืนที่ดิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,261,952.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินและไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,954,952.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง ที่ดิน 2 แปลง และบางส่วนของที่ดินอีก 1 แปลง รวมเนื้อที่ 173 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และพญาไท – ศรีนครินทร์ ซึ่งมีผลใช้บังคับ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 ภายหลังพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้สิ้นผลใช้บังคับแล้วได้มีการออก พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตบางคอแหลม เขตพญาไท เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับในวันที่ 16 เมษายน 2535 เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ตามฟ้อง ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ 4 รายการ เป็นค่าทดแทนที่ดิน สิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนไม่ได้ ไม้ยืนต้น และค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินทั้งสิ้น 10,869,856.18 บาท โจทก์เห็นว่าต่ำเกินไปจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและฟ้องคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า เงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตบางคอแหลม เขตพญาไท เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับในวันที่ 16 เมษายน 2535 นั้น พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ซึ่งครบกำหนดอายุใช้บังคับในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ได้สิ้นผลบังคับไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่ามีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าวโดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เข้ากรณีตามมาตรา 23 ซึ่งบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองสรุปรวมกันได้ว่าในกรณีที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นมิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 โดยอนุโลม ปรากฏว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่… พ.ศ. 2535 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 มาใช้โดยอนุโลม การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงต้องคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่… พ.ศ. 2535 คือวันที่ 16 เมษายน 2535 (2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน… เมื่อพิเคราะห์โดยคำนึงถึง 5 ข้อ ตามมาตรา 21 ประกอบไปด้วยกันแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนเพิ่มอีก 1,530,000 บาท…
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยถูกต้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2535 แจ้งให้โจทก์มารับเงินภายใน 7 วัน โดยโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 และโจทก์ได้รับเงินไปในวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเป็นผู้กำหนดว่าจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จึงถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนที่ได้รับไปแล้วจึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่จะได้รับเพิ่มด้วย ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 เป็นต้นไป ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,044,952.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share