คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6964/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อ 2 ตรงตามที่ศาลฎีกาได้กำหนดให้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากไม่อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ฯ มาตรา 85 ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติก่อนฟ้องคดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคท้าย แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อ 4 ต่อไปอีก จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลที่ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลยลดส่วนอัตราเงินสมทบกรณีคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 0.12 และกรณีตายในอัตราร้อยละ 0.06 จากอัตราเงินสมทบร้อยละ 1.5 ที่โจทก์และเจ้าหน้าที่ (ลูกจ้าง) ของโจทก์จะต้อง จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยให้โจทก์และเจ้าหน้าที่ (ลูกจ้าง) ของโจทก์ได้รับยกเว้น ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนนี้
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องหรือไม่ และมีการมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องคดีนี้หรือไม่
2. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือไม่
3. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
4. โจทก์ให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างในกรณีคลอดบุตร และในกรณีตายสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมจริงหรือไม่ และมีเหตุที่จะลดส่วนอัตราเงินสมทบหรือไม่ เพียงใด
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประเด็นข้อ 1 แล้วยกประเด็นข้อ 4 ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า ระเบียบให้สวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ของโจทก์เพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อบังคับกำหนดให้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องค่า คลอดบุตรและค่าทำศพสูงกว่าสิทธิประโยชน์ของจำเลยนั้นได้ประกาศใช้หลังจาก พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 แล้ว จึงไม่ใช่สวัสดิการที่นายจ้างจัดให้มีอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอลดหรืองดส่วนอัตราเงินสมทบ ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางควรพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นข้อ 2 ก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แล้วจึงวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อ 4 ก่อนประเด็นข้อ 2 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นข้อ 4 ตามที่กำหนดไว้ แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นข้อ ตามที่ศาลฎีกาให้วินิจฉัยก่อน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยในประเด็นข้อ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา 30 วัน ตามมาตรา 85 แห่ง พ.ร.บ. ประสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติก่อนที่จะฟ้องคดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นได้ว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจประเด็นข้อ 2 ตรงตามที่ศาลฎีกาได้กำหนดให้วินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นพิพาทข้อ 4 ต่อไปอีกว่า กรณีของโจทก์ไม่มีเหตุที่จะขอลดส่วนอัตราเงินสมทบจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้องโจทก์
พิพากษายืน.

Share