คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้มาก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและป้าจำเลยซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 271, 272, 274 และ 275 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109 และ 110 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางมันทนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วม และจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับจำเลยโดยโจทก์ร่วมเป็นน้องมารดาจำเลย เมื่อมารดาจำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับบิดาจำเลย ปู่ย่าและบิดาจำเลยกับนางสุจินต์ป้าจำเลยประกอบอาชีพค้าขายยาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 โดยปู่จำเลยเป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้าตราวัวแดง 2 ตัว ชนกัน และมีคำว่า “กีเส็ง” กำกับอยู่และนำมาใช้กับสินค้ายาเส้นโดยยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อปู่และย่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจำเลยและโจทก์ร่วมเข้าดูแลกิจการยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีแทน ต่อมามีการขยายตลาดยาเส้นในภาคอีสานโดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่าย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาเส้นของจำเลยเป็นตราเสือคู่ แต่จำเลยก็ยังจำหน่ายยาเส้นของบิดาจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันด้วย ดังนี้ การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันคือเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้กับสินค้ายาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น และไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและนางสุจินต์ป้าจำเลยทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้า จึงมิใช่การจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share