คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 93 – 3064 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ หลังเกิดเหตุตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุและตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยออกหลักฐาน (ใบเคลม) โดยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ระบุเลขกรมธรรม์ 1 – 45 – 2164 ให้แก่โจทก์ในวันเกิดเหตุตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามหลักฐานเอกสารใบตรวจสอบรายการความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ออกให้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบดีถึงเหตุที่เกิดตลอดจนนิติสัมพันธ์ที่จำเลยที่ 2 มีต่อรถบรรทุกคันเกิดเหตุจึงได้ส่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาหรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด เหตุเกิดวันที่ 21 เมษายน 2545 เดิมโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครเหนือวันที่ 13 กันยายน 2545 ภายในกำหนดอายุความ ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งรับฟ้องและส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา เป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภายหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โดยศาลแขวงพระนครเหนือไม่จำต้องมีคำสั่งว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายในหกสิบวันนับแต่คำสั่งศาลแขวงพระนครเหนือถึงที่สุดชอบแล้ว
ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา จึงเป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีแต่อย่างใด ที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ต่อศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์นำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของรถที่โจทก์ใช้อยู่ ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะกระทำได้ จำเลยที่ 2 จะบังคับให้โจทก์ไปซ่อมรถที่อู่ทั่วไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 131,883.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 121,338 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์คือ นายสมศักดิ์ มิใช่จำเลยที่ 1 จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอถอนฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 93 – 3064 กรุงเทพมหานคร หลังเกิดเหตุตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุและตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ออกหลักฐาน (ใบเคลม) ให้ไว้แก่โจทก์ในวันเกิดเหตุและพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัย เห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 93 – 3064 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ หลังเกิดเหตุตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุและตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยออกหลักฐาน (ใบเคลม) โดยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ระบุเลขกรมธรรม์ 1 – 45 – 2164 ให้แก่โจทก์ในวันเกิดเหตุตามภาพถ่ายใบตรวจสอบรายการความเสียหาย อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามหลักฐานเอกสารใบตรวจสอบรายการความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ออกให้อันเกิดจากการทำละเมิดของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ เช่นนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีถึงเหตุที่เกิดตลอดจนนิติสัมพันธ์ที่จำเลยที่ 2 มีต่อรถบรรทุกคันเกิดเหตุจึงได้ส่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม และปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นอื่น ๆ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย เพื่อความรวดเร็วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณาโดยไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์นำคดีไปฟ้องใหม่ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายใน 60 วัน นับแต่ศาลเดิมเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องไม่ชอบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาหรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องโดยจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งว่า เดิมโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครเหนือวันที่ 13 กันยายน 2545 ภายในกำหนดอายุความ ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งรับฟ้องและส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมามีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา เป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภายหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โดยศาลแขวงพระนครเหนือไม่จำต้องมีคำสั่งว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายในหกสิบวันนับแต่คำสั่งศาลแขวงพระนครเหนือถึงที่สุดชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ได้ฟ้องเหตุการณ์กรณีนี้ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ แล้วศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองใหม่เป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นจึงเป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา จึงเป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด เช่นนี้ การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ต่อศาลชั้นต้นจึงไม่ฟ้องซ้ำ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดมีเพียงใด จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามภาพถ่ายรถมีความเสียหายเล็กน้อยที่มุมหน้าด้านซ้ายเท่านั้น ซึ่งรายการซ่อมตามใบตรวจสอบรายการความเสียหาย มีเพียง 5 รายการ แต่รายการซ่อมตามใบเสร็จรับเงินมีรายการซ่อม 9 รายการ ทั้งเป็นการซ่อมที่ศูนย์บริการรถยนต์ย่อมราคาสูงกว่าราคาอู่ทั่วไปนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเพียงนายวิสันต์ พนักงานของจำเลยที่ 2 เบิกความปากเดียวในเรื่องความเสียหายของรถได้ความว่า โจทก์นำรถไปซ่อมที่ศูนย์บริการซึ่งมีค่าแรงและอะไหล่สูงกว่าอู่ซ่อมรถทั่ว ๆ ไป โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายของรถมีรายการซ่อมไม่ถึง 9 รายการ ตามที่โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมให้แก่ศูนย์บริการตามใบเสร็จรับเงินแต่ประการใด ส่วนโจทก์มีนายปัญญา ซึ่งเป็นลูกจ้างของศูนย์บริการที่รับซ่อมรถเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบรายการซ่อมความว่า กระโปรงรถถูกเบียดโป่งขึ้นมา บังโคลนหน้าด้านซ้ายถูกเบียดไปถึงประตูหน้าด้านซ้าย ทำให้ประตูหน้าด้านซ้ายเปิดไม่ได้ซึ่งเมื่อเปิดตัวถังรถจะขบกัน ไฟเลี้ยวกันชนหน้าซ้ายในรูปถ่ายไม่ปรากฏความเสียหาย แต่เมื่อถอดออกมาแล้วปรากฏว่าขายึดไฟแตกหักและกันชนหน้านั้นต้องเปลี่ยนใหม่เพราะเนื้อพลาสติกเสียไปแล้ว ไม่สามารถซ่อมให้กลับคืนมาอยู่ในรูปเดิมได้และที่ต้องเปลี่ยนไฟหน้าด้วยเพราะฐานไฟแตก รายการซ่อมตามใบตรวจสอบรายการความเสียหายที่เพิ่มจาก 5 รายการ เป็น 9 รายการ ตามใบเสร็จรับเงิน เพราะเป็นรายการซ่อมที่เสียหายต่อเนื่องกันจากอุบัติเหตุ โดยแบ่งเป็นรายการอะไหล่ซ่อม 7 รายการ เป็นเงิน 66,850 บาท และค่าแรงซ่อมสีถอดประกอบ 9 รายการ เป็นเงิน 46,550 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 121,338 บาท เช่นนี้ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อตามทางนำสืบของโจทก์และยังได้วินิจฉัยต่อว่า รถเป็นรถใช้แล้วย่อมมีการเสื่อมราคาของอุปกรณ์จากการใช้ดังกล่าวบ้างแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 120,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ส่วนที่โจทก์นำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการก็ปรากฏว่าเป็นศูนย์บริการของรถที่โจทก์ใช้อยู่ ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะกระทำได้ จำเลยที่ 2 จะบังคับให้โจทก์ไปซ่อมอู่ทั่วไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share