แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้ทั้งสองกับ ส.ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และโจทก์นำเอาหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้ตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ กำหนดไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิของโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษานี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2542 จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลง หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 94(1) กรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะนำเอาระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้หาได้ไม่
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ในการอุทธรณ์หรือฎีกาต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราเดียวกับค่ายื่นคำขอชำระหนี้คือ ให้คิดฉบับละ 25 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย)ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2542 เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิของโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นเงิน 13,401,063.37 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ เห็นว่า หนี้ของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความ สมควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 13,398,308.39บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 130(8) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ลูกหนี้ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของลูกหนี้ทั้งสองว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 อันต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) หรือไม่ เห็นว่าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2019/2529 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้ทั้งสองกับนายสมาน สีพิลา ร่วมกันชำระเงินจำนวน9,632,724.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และโจทก์นำเอาหนี้ตามคำพิพากษานี้มาฟ้องขอให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิของโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษานี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2542 จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลง หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ ย่อมไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1) กรณีมิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2019/2529 จะนำเอาระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้หาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของลูกหนี้ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ในการอุทธรณ์หรือฎีกาต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราเดียวกับค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ กล่าวคือให้คิดฉบับละ 25 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179(2) ที่ลูกหนี้ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาชั้นละ 200 บาท จึงเสียเกินมา 350 บาท”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 350 บาท แก่ลูกหนี้ทั้งสอง