แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2511 มาตรา 75 ต่อมาเมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2511 อันเป็นบทบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดได้ถูกยกเลิกโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้นางสุมนัส อินทฤทธิ์ พนักงานเทศบาล คัดสำเนาเอกสารต่างๆ ของเทศบาล แล้วจำเลยไปกล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนทั้งในและนอกเขตเทศบาบในฐานะจำเลยเป็นนายกเทศมนตรี โดยนำเอกสารดังกล่าวไปเปิดเผยต่อประชาชนในการที่จำเลยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่นางสมบูรณ์ นาคะพงษ์ ภรรยาจำเลย เป็นคุณแก่นางสมบูรณ์ นาคะพงษ์ และเป็นโทษแก่นายเกตุ วงศ์กาไสย นายบุญช่วย อัตถากร และนายวัฒนา อัตถากร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๗๕ และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายบุญช่วย อัตถากร และนายเกตุ วงศ์กาไสย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลมหาสารคาม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ สั่งให้พนักงานเทศบาลคัดสำเนาเอกสารต่างๆ ของเทศบาลแล้วไปกล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนในฐานะเป็นนายกเทศมนตรี โดยนำเอาเอกสารดังกล่าวไปเปิดเผยต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ภรรยาของจำเลย เป็นคุณแก่ภรรยาของจำเลย และเป็นโทษแก่โจทก์ร่วมทั้งสองกับนายวัฒนา อัตถากร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นความผิดตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๑๑
ต่อมาเมื่อคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๑๑ อันเป็นบทบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิด ได้ถูกยกเลิกโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๕ ซึ่งสั่ง ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙ (๕) ที่ว่า เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับ จึงให้ยกฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง
พิพากษายืน