คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 50, 73 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 การได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่นั้น ไม่ทำให้ผู้นั้นได้สิทธิครอบครองที่ดินอยู่ในเขตประทานบัตรด้วย แต่เมื่อมีผู้ใดเข้าไปขัดขวางในการทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรโดยไม่มีอำนาจโดยชอบแล้ว ผู้ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีอำนาจฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิถือประทานบัตรทำเหมืองแร่ตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ๑ แปลง จำเลยบุกรุกเข้าไปทำรั้วและปลูกโรงเรือน ขอให้ศาลขับไล่ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลย ฯลฯ
ตามแผนที่กลางหมายเลข ๒ เป็นที่ที่โจทก์ฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทภายในวงเส้นสีแดงหมาย ๑ และ ๓ ด้วย จำเลยให้การเพิ่มเติมว่า ที่พิพาทหมายเลข ๓ มารดาจำเลยยกให้ ส่วนที่พิพาทหมาย ๑ – ๒ จำเลยซื้อมา ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทหมาย ๑, ๒, ๓ ตามแผนที่กลาง ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๓ บัญญัติว่า “ผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิในเขตเหมืองแร่ เฉพาะแต่ . . . . . . ฯลฯ”
(๓) ใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ . . . . . ฯลฯ แต่ทั้งนี้เมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้วมิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง” และตามมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ บัญญัติว่า “ถ้าที่ซึ่งขอประทานบัตรเป็นที่อันมิใช่ที่ว่างหรือมีที่อันมิใช่ที่ว่างรวมอยู่ในเขต ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ขอจะมีสิทธิ์ทำเหมืองในเขตที่นั้นได้” ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่นั้นไม่ทำให้ผู้นั้นได้สิทธิ์ครอบครองที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรด้วย แต่เมื่อมีผู้ใดเข้าไปขัดขวางในการทำแร่ในเขตประทานบัตรโดยไม่มีอำนาจโดยชอบแล้ว ผู้ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้นั้นได้ คดีนี้แม้ประทานบัตรเดิมจะขาดอายุแล้ว แต่โจทก์ก็ได้ขอต่ออายุก่อนที่อายุประทานบัตรจะครบกำหนด ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยขัดขวางโจทก์ก็ย่อมฟ้องได้
จากนั้นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยไม่มีสิทธิ์ครอบครองที่พิพาทหมายเลข ๑ – ๒
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรแต่ปี ๒๕๐๒ เพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อปี ๒๕๐๗ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยคงจะหมายถึงโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนสิทธิครอบครองภายในกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่เรื่องฟ้องเรียกสิทธิครอบครองคืน จะนำเอาสิทธิฟ้องตามมาตรา ๑๓๗๕ มาปรับแก่คดีไม่ได้ อายุความในเรื่องนี้ต้องใช้อายุความทั่วไป และการนับอายุความก็ต้องนับแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปขัดขวาง ไม่ใช่นับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตร คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่พิพาทหมาย ๒ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๖ เท่านั้น คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทหมาย ๓ เป็นที่ที่มารดาจำเลยยกให้จำเลย
พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องเฉพาะที่พิพาทหมาย ๓ ในแผนที่กลาง.

Share