คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สาระสำคัญของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) อยู่ที่วันออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ผู้ออกเช็คมีเจตนากระทำความผิด เพียงแต่ความผิดยังไม่เกิดจนกว่าธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นความผิดจึงจะเกิดสำเร็จ เมื่อจำเลยออกเช็ควันที่ 31 มีนาคม 2539 โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบเพียงว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2539 ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีไม่พอใช้เงินตามเช็ค ซึ่งหากโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินในวันดังกล่าว ธนาคารย่อมจะต้องปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คอยู่นั่นเอง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา จ่าสิบตำรวจนิตย์ ทิพย์แก้ว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) จำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทคือ เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขากันตัง ลงวันที่31 มีนาคม 2539 สั่งจ่ายเงิน 2,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2539โจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) นั้น สาระสำคัญของความผิดอยู่ที่วันออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ผู้ออกเช็คมีเจตนากระทำความผิด เพียงแต่ความผิดยังไม่เกิดจนกว่าธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นความผิดจึงจะเกิดสำเร็จ คดีนี้จำเลยออกเช็ควันที่ 31 มีนาคม 2539 โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบเพียงว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2539 ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย มิได้นำสืบให้เห็นว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีไม่พอใช้เงินตามเช็ค ซึ่งหากโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินในวันดังกล่าวธนาคารย่อมจะต้องปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คอยู่นั่นเอง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share