คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ซึ่งข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำให้การของจำเลยในคดีแรงงานนั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา 39 ที่ให้ศาลแรงงานสอบถามและบันทึกคำให้การจำเลยในวันนัดพิจารณาและตามมาตรา 37 วรรคสอง ก็บัญญัติว่าจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาล (วันนัดพิจารณา)ก็ได้ดังนั้นการที่จำเลยขอเพิ่มเติมคำให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความโดยยื่นต่อศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์แต่ยังไม่ได้สืบพยานโจทก์ จำเลยจึงยื่นคำให้การเพิ่มเติมได้โดยชอบเพราะยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยสามารถให้การเป็นหนังสือหรือให้การด้วยวาจาได้ตามมาตรา 39 และมาตรา 37 ดังกล่าวแล้วและกรณีดังกล่าวไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 มาใช้บังคับ เพราะมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การหลังจากวันนัดพิจารณา ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลย โจทก์ทำงานตำแหน่งพนักงานสำรวจและส่งเสริมไร่เขตดงคู่ ตั้งแต่ปี 2517 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2538 อัตราเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ11,990 บาท โจทก์ต้องปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์ แต่จำเลยให้โจทก์ทำงานรับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมงและจ่ายค่าล่วงเวลาให้วันละ 4 ชั่วโมง ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเท่ากับจำนวนชั่วโมงที่โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติคือวันละ 16 ชั่วโมง นอกจากนี้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,659,517.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย จำนวน 1,659,517.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 858,158.68 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเป็นส่วนราชการ มีหน้าที่ดูแลโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ ซึ่งมีกฎระเบียบการบริหารงานและระเบียบการปฏิบัติงานลักษณะงานของโรงงานน้ำตาลแตกต่างจากธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น เพราะโรงงานน้ำตาลทำงานเป็นช่วงฤดู วันหนึ่ง ๆ ไม่สามารถกำหนดปริมาณงานได้ โจทก์ได้รับเงินเดือนประจำในกรณีมีเหตุจำเป็นก็ต้องให้พนักงานทำงานนอกเวลาเป็นครั้งคราว เช่น มีรถบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานก็ให้ช่วยอำนวยความสะดวก จัดระเบียบการเข้าออกของรถบรรทุกการขนถ่ายอ้อยเข้าสู่โรงงาน ที่โจทก์อ้างว่าทำงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่เป็นความจริงเพราะงานที่ทำมิได้ทำตลอดเวลามีการทำเป็นช่วง ๆ การจ่ายค่าตอบแทนก็เป็นที่ยอมรับของคนงานทั่วไปก่อนที่โจทก์จะเข้ามาทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาวันละ 16 ชั่วโมง การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานจำเลยปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติและด้วยความสมัครใจของลูกจ้าง ไม่มีการหลอกลวงแต่อย่างใด โจทก์เกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 แต่มาฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตลอดจนผลประโยชน์อื่น ๆ หลังจากที่โจทก์ออกจากงานแล้ว 3 ปีเศษ จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน2542 กล่าวหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง กฎหมายแรงงานและมาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงเรียกค่าเสียหายจำนวน 1,659,517.90 บาท ซึ่งมูลกรณีที่กล่าวอ้างมาแท้จริงแล้วเป็นการเรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยอ้างว่าจำเลยจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วน หาใช่เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันแท้จริงไม่ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ของปี 2532ถึง 2538 เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้รับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193 สำหรับค่าจ้างเริ่มนับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง ส่วนค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด นับแต่วันที่ต้องชำระในแต่ละเดือนโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกินกว่าสองปีนับแต่วันที่มีสิทธิเรียกร้อง ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ขาดประโยชน์หรือไม่เพียงใดอีกต่อไปพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อสู้ในเรื่องอายุความเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม2542 ซึ่งเป็นวันชี้สองสถานและวันสืบพยานโจทก์นัดแรก และโจทก์ได้คัดค้านไว้แล้ว แต่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวได้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ซึ่งข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำให้การของจำเลยในคดีแรงงานนั้นมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ที่ให้ศาลแรงงานสอบถามและบันทึกคำให้การจำเลยในวันนัดพิจารณาและตามมาตรา 37 วรรคสองก็บัญญัติว่าจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาล (วันนัดพิจารณา) ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยขอเพิ่มเติมคำให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ โดยยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2542 ซึ่งปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2542 ว่าเป็นวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ แต่ยังไม่ได้สืบพยานโจทก์จำเลยจึงยื่นคำให้การเพิ่มเติมได้โดยชอบเพราะยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยสามารถให้การเป็นหนังสือหรือให้การด้วยวาจาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 และมาตรา 39 ดังกล่าวแล้ว และกรณีดังกล่าวไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับตามที่โจทก์อ้าง เพราะมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การหลังจากวันนัดพิจารณาที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”

พิพากษายืน

Share