คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7080/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินบัญชีได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ว่า จำเลยยอมเสีย ดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนในจำนวนเงินที่เป็นหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE) ในอัตราร้อยละ 19 และ 18 ต่อปี โดยวิธีคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร และจำเลยยอมให้สิทธิโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ไม่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงเพราะการบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จะคิดอัตรา ดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งปรับเปลี่ยนได้อีกต่อไปไม่ได้คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.8 กำหนดอัตรา ดอกเบี้ยไว้ไม่เท่ากัน กล่าวคือ ร้อยละ 19 และ 18 ตามลำดับ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ความชัดแจ้งว่ายอดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ณ วันถัดจากวันที่เลิกสัญญาถึงวันฟ้องที่ขอมานั้นแบ่งเป็นยอดดอกเบี้ยตามสัญญา เอกสารหมาย จ.6 เท่าใด และสัญญาเอกสารหมาย จ.8 เท่าใด จึงต้องคิดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ประสงค์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินหนี้เงินกู้ยืมจำนวน ๘,๒๒๙,๓๔๑.๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๖,๖๓๕,๔๙๓.๕๕ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี… สัญญากู้เงิน… ค่าเบี้ยประกันภัย… หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๕๒๕ และ ๓๗๕๒๖… และที่ดิน โฉนดเลขที่ ๖๙๔๖๗… ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึด ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๑,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ระหว่างพิจารณาบริษัท บ. ผู้ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็น คู่ความแทนโจทก์ และให้เปลี่ยนชื่อโจทก์จากเดิมมาเป็นชื่อผู้ร้อง ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็น คู่ความแทนโจทก์ในชั้นฎีกาได้ ส่วนที่ผู้ร้องขอให้เปลี่ยนชื่อโจทก์มาเป็นชื่อผู้ร้องด้วยนั้นมีคำสั่งยก
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว กรณีข้อกำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่ให้โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับหรือไม่นั้น วินิจฉัยว่า เบี้ยปรับ คือเงินจำนวนหนึ่งที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ดังนั้น การพิจารณาว่าเงินที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในสัญญาว่า มีข้อความระบุให้เจ้าหนี้เรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้ เพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรหรือไม่ ในสัญญา กู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ในข้อ ๒ ว่า จำเลยที่ ๑ ยอมเสียดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนในจำนวนเงินที่เป็นหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE) ในอัตราร้อยละ ๑๙ และ ๑๘ ต่อปี โดยวิธีคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร และถ้าต่อไปธนาคารจะขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้แล้ว จำเลยที่ ๑ ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ ให้ถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทราบและให้ความยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ล่วงหน้าโดยไม่ โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงิน ก็ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ในข้อ ๒ มีเนื้อความในทำนองเดียวกัน อีกทั้งสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดิน ก็ระบุว่าจำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ จากข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ยอมให้สิทธิโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ไม่ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อกำหนดเรื่องดอกเบี้ยในสัญญาเป็นเบี้ยปรับ ศาลจึงใช้ดุลพินิจ ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญา กู้เงินสิ้นสุดลงเพราะการบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งปรับเปลี่ยนได้อีกต่อไปไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ ๒ อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าในข้อ ๒ ของสัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชีทั้งสองฉบับ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เท่ากัน กล่าวคือ ร้อยละ ๑๙ และ ๑๘ ตามลำดับ แต่โจทก์ นำสืบไม่ได้ความชัดแจ้งว่ายอดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ถึงวันฟ้องที่ขอมารวม ๙๙๘,๙๑๔.๒๓ บาท นั้น แบ่งเป็นยอดดอกเบี้ยตามสัญญาใดจำนวนเท่าใด โจทก์คงขอคิดรวมกันมาในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ ๒๕, ๒๑ และ ๑๘ สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๕ และ ๒๑ ที่โจทก์คิดคำนวณมานั้นเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน สัญญาข้อ ๒ โจทก์จึงคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น การคิดอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ จึงต้องคิดในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ตามที่โจทก์ประสงค์ ส่วนตามสัญญากู้เงินนั้นเมื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ร้อยละ ๑๙ ต่อปี ดังนั้น นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเกินอัตราดังกล่าวอีกต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้…

Share