คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7070/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลชั้นต้น ในข้อ 2 ว่า “ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามร่วมกัน” ข้อ 3 วรรคสองของสัญญาระบุว่า “สำหรับค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ” จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า หากบุตรผู้เยาว์ทั้งสามพักอาศัยอยู่กับใครคนนั้นจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสามไปดูแลในช่วงที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามนั้น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับสัญญาประนีประนอมที่ทำไว้ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าศาล ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายเมื่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่า โจทก์ไม่ชำระค่าใช้จ่ายของบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนถึงเดือนสิงหาคม 2556 โดยจำเลยที่ 1 ชำระแต่ผู้เดียว จำนวน 193,804 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมนำเงินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อเดียวกัน ขอให้ชำระเงินค่าการศึกษาและค่าอุปการะบุตร จำนวน 518,761.75 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำขอของโจทก์และกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระเงินแก่โจทก์ 243,877.50 บาท แต่ไม่ชำระ จึงออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 26 กันยายน 2554 สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีอยู่ 11 ข้อ คงมีปัญหาโต้แย้งกันในคดีนี้เฉพาะข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 8 สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 กำหนดให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามร่วมกัน ข้อ 3 กำหนดให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามที่จ่ายจริงตามใบเสร็จรับเงิน ในวรรคสองของสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนข้อ 8 เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงยินยอมเป็นนายประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2834/2552 ของศาลอาญา จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 243,877.50 บาท แก่โจทก์ และออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมชอบหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่า ในวันที่ 26 กันยายน 2554 ที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หากบุตรผู้เยาว์ทั้งสามพักอาศัยอยู่กับใคร คนนั้นจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสามไปดูแลในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า “สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ” ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าศาล ไม่อาจที่จะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกามาว่า จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อเมื่อบุตรผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 ที่จะรับเป็นนายประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีอาญา แต่โจทก์กลับถอนหลักประกันทำให้จำเลยที่ 1 ต้องถูกคุมขัง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ในระหว่างนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีรายได้ทางอื่นอีก อันแสดงได้ว่ารายได้หรือฐานะของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น เห็นว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขัง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำความผิดอาญาเองจนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก หาใช่ข้ออ้างว่าเพราะโจทก์ไม่เป็นนายประกัน ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องถูกคุมขัง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามจำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ แต่การที่ถูกคุมขังดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงรายได้และฐานะของจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ได้พิจารณาและมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามให้น้อยลงแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งพ้นโทษในคดีอาญา ปัจจุบันเพิ่งได้งานทำ รายได้มีเพียงแต่ประทังเลี้ยงชีพตนเอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 243,877.50 บาท สูงเกินไป จำเลยที่ 1 ไม่มีความสามารถที่จะชำระให้ได้นั้น เห็นว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นลดลงจากเดิม เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share