คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จากเอกสารหลักฐานในสำนวนไม่ปรากฏว่ามีข้อกำหนดหรือข้อตกลงเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ปรากฏว่าผู้จัดการจำเลยได้รู้เห็นและยินยอมด้วยให้นำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยที่ผิดหลักเกณฑ์มาใช้โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าการคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ในเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยได้แต่งตั้งผู้คิดบัญชีและมีผู้ตรวจสอบบัญชีอีกคนหนึ่งเป็นเวลา 18 ปีแล้วจำเลยไม่เคยทักท้วงแต่อนุมัติตลอดมา จึงมิใช่การคำนวณผิดพลาดดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จำเลยได้ก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2511 และต่อมาจำเลยได้ระบุเรื่องการหักเงินสะสมและการเข้าร่วมโครงการเงินสะสมไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับพนักงานของจำเลยด้วย จำเลยได้คำนวณดอกเบี้ยเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวิธีการในเอกสารท้ายฟ้องมาเป็นเวลา 18 ปีแล้ว วิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกฎข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ซึ่งไม่เป็นคุณและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนได้

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 26
โจทก์ทั้งยี่สิบหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งยี่สิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเคยมีระเบียบเกี่ยวกับการหักเงินสะสมพนักงาน เมื่อพนักงานผ่านการทดลองงานแล้วระดับสูง 180 วันและระดับเสมียน ระดับนักการ 120 วัน ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยจำเลยจะหักค่าจ้างพนักงานร้อยละห้าของเงินเดือนเป็นเงินสะสม และจำเลยออกเงินสมทบให้สองเท่าของเงินสะสม เงินจำนวนดังกล่าวจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาไว้และคำนวณดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละสิบสองต่อปี โดยมีวิธีการคำนวณดอกเบี้ยคือ แบ่งการคำนวณดอกเบี้ยออกเป็นสองส่วนคำนวณดอกเบี้ยในส่วนเงินสะสมของโจทก์ทั้งยี่สิบหก แล้วคำนวณดอกเบี้ยในส่วนของเงินที่จำเลยออกสมทบให้จำนวนสองเท่าแล้วจึงนำดอกเบี้ยของเงินสะสมของโจทก์ทั้งยี่สิบหกและดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยออกสมทบมารวมกัน ตั้งแต่เริ่มหักเงินสะสมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบเดิมปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาจำเลยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกแบบใหม่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 จนถึงปัจจุบัน ทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกได้ดอกเบี้ยลดน้อยลง การที่จำเลยนำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบใหม่มาใช้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งยี่สิบหก ขอให้บังคับจำเลยโดยให้นำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบเดิมมาใช้กับโจทก์ทั้งยี่สิบหกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งยี่สิบหกจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลย
จำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยได้จัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2511 โดยมีหลักเกณฑ์ว่าพนักงานของจำเลยจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอัตราร้อยละห้าของเงินเดือน และจำเลยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละสิบของเงินเดือนของพนักงานคนนั้นโดยจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นผู้ดำเนินงานและวางกฎข้อบังคับในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นับตั้งแต่ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คณะกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝากไว้ที่จำเลยในฐานะที่จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยจำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินที่นำมาฝากดังกล่าว วิธีการคำนวณดอกเบี้ยนั้นจำเลยคำนวณจ่ายให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเช่นเดียวกับที่จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนผู้มาฝากเงินโดยทั่วไปเป็นตามมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเมื่อต้น พ.ศ. 2535จำเลยมีความประสงค์ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน จำเลยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ. 2530 เพื่อจำเลยและพนักงานของจำเลยจะได้รับประโยชน์ในเรื่องภาษี กล่าวคือ เงินที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจะถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ นอกจากนั้นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ. 2530 จะเป็นผู้มีความชำนาญในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและได้รับอนุญาตจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังประกอบกับการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นหลักเกณฑ์อันเชื่อถือได้ว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่ถูกนำไปใช้ในวิธีการที่ผิดหรือนำไปลงทุนต่อในกิจการที่เลี่ยงต่อการสูญเสียหรือการเสียหายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยจึงตรวจสอบการฝากเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและพบว่านับแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา พนักงานของจำเลยได้ใช้วิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากที่จ่ายให้แก่พนักงานผิดพลาดไปโดยได้นำต้นเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดมารวมคำนวณเป็นฐานการคิดดอกเบี้ย การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าที่เคยปฏิบัติมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามวิธีการของธนาคาร เมื่อจำเลยทราบว่าได้มีการผิดพลาดเกิดขึ้น จำเลยจึงได้แจ้งให้โจทก์และพนักงานอื่นของจำเลยทราบถึงการคำนวณที่ผิดพลาด จำเลยมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจำเลยไม่ได้กระทำผิดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริการที่จำเลยรับฝากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นก็เพราะเป็นสถาบันการเงินและเป็นการกระทำอีกฐานะหนึ่งแยกต่างหากจากหน้าที่หรือความยินยอมในการกระทำของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งหากโจทก์ทุกคนนำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ที่สถาบันการเงินอื่นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้งยี่สิบหกจะได้รับจะต้องไม่แตกต่างจากที่จำเลยคำนวณให้ การคำนวณดอกเบี้ยของจำเลยให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมิได้เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งยี่สิบหกกับจำเลยในฐานะธนาคารพาณิชย์อันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยในฐานะธนาคารพาณิชย์จ่ายเกินได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้วนั้น นับแต่พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 18 ปี จำเลยมิได้เรียกกลับคืนคงถือเป็นประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนอัตราดอกเบี้ยและวิธีการคำนวณที่ถูกต้องจะได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ วันที่1 มกราคม 2535 ดังนั้น โจทก์ทั้งยี่สิบหกจึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกินกว่าจำนวนที่ต้องจ่ายจริงและไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยคำนวณดอกเบี้ยให้ผิดพลาดต่อไปอีกได้ ตามกฎข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโจทก์ทั้งยี่สิบหกมีสิทธิได้รับเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยต่อเมื่อได้พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้วเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบหกยังคงปฏิบัติงานให้จำเลยอยู่ จำเลยยังไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้งยี่สิบหกอ้างว่าไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งยี่สิบหก โจทก์ทั้งยี่สิบหกยังไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนการที่โจทก์ทั้งยี่สิบหกขอให้บังคับจำเลยจ่ายดอกเบี้ยไปจนกว่าจะถึงวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบหกพ้นจากการเป็นพนักงานนั้น เป็นวิธีการที่ไม่อาจเป็นไปได้ เพราะหากไม่ได้นำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาฝากไว้ที่จำเลย โดยนำไปฝากไว้ที่สถาบันการเงินอื่นหรือถูกจัดการโดยวิธีอื่น จำเลยมิได้อยู่ในฐานะผู้รับฝากเงินก็จะจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบหกมิได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยสั่งเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ซึ่งไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งยี่สิบหกจำเลยไม่อาจกระทำได้ พิพากษาให้จำเลยนำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบเดิมตามที่กำหนดไว้ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มาใช้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานธนาคารสหมาลายัน จำกัดสาขากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทุกคนจะพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย
จำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าจากเอกสารหลักฐานในสำนวนไม่ปรากฏว่า มีข้อกำหนดหรือข้อตกลงเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ปรากฏว่าผู้จัดการจำเลยได้รู้เห็นและยินยอมด้วยให้นำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยที่ผิดหลักเกณฑ์มาใช้ โจทก์ทั้งยี่สิบหกจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น เห็นว่า ข้อที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จำเลยได้แต่งตั้งผู้คิดบัญชีและมีผู้ตรวจสอบบัญชีอีกคนหนึ่งเป็นเวลา 18 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยทักท้วงแต่อนุมัติตลอดมา จึงมิใช่การคำนวณผิดพลาด ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า วิธีการคำนวณดอกเบี้ยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลย ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจึงมีสิทธิจะเปลี่ยนแปลงได้นั้น เห็นว่าจำเลยได้ก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยขึ้นเมื่อวันที่1 มกราคม 2511 และต่อมาจำเลยได้ระบุเรื่องการหักเงินสะสมและการเข้าร่วมโครงการเงินสะสมไว้ในบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 13 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับพนักงานของจำเลยด้วย จำเลยได้คำนวณดอกเบี้ยเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวิธีการในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มาเป็นเวลา 18 ปีแล้ววิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกฎข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ซึ่งไม่เป็นคุณและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งยี่สิบหกก่อนได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share