แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2ยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างและมีผลสมบูรณ์นับแต่ยื่นหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์รับหนังสือเลิกจ้างแล้วโจทก์ยื่นหนังสือลาออกให้จำเลยที่ 2 ก็มิใช่เป็นการตกลงกันใหม่ให้ถือเป็นการลาออกดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ดังนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
รายได้พิเศษอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือผ่านสิทธิและรับรองเงินเดือนเป็นเงินค่าภาษีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร จำเลยที่ 1ผู้เป็นนายจ้างจึงออกภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรแทนโจทก์ โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ ดังนี้ภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการ และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่เงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน หรือ 6 เดือน จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์เพียง 3 เดือน ยังคงค้างค่าชดเชยอีก 3 เดือน แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยมิได้ยกเหตุใด ๆขึ้นอ้างเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ย่อมไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31