แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยทำงานกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายและเงินต่าง ๆ หลายประเภท คดีดังกล่าวตกลงกันได้โดยการประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้วว่า บริษัทจำเลยยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2527 เป็นต้นไป ดังนี้ สภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยที่มีอยู่เดิมยุติลงแล้วด้วยการที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อโจทก์จำเลยยอมความกันก็มิได้กล่าวถึงว่าจะนับอายุการทำงานเดิมต่อกับอายุการทำงานใหม่หรือไม่ ทั้งคดีดังกล่าวโจทก์ก็มิได้ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่ โจทก์จึงจะนับอายุการทำงานที่ตกลงกันใหม่ต่อจากอายุการทำงานเดิมมิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๔ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์จำเลยตกลงกันได้โดยจำเลยยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์อีกโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ว่าโจทก์ปฏิบัติงานไม่ได้สมตามความมุ่งหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยเคยจ้างโจทก์ ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาและยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง คดีตกลงกันได้โดยจำเลยยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างเพียงชั่วระยะเวลาของการทำบัญชีปี ๒๕๒๕ และ ๒๕๒๖ เท่านั้น โจทก์จึงมีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างหรือพนักงานชั่วคราว การนับอายุการทำงานของโจทก์ต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นต้นไปจนถึงวันที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน ซึ่งยังไม่ถึง ๒๔๐ วัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหาย ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกัน ฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งมิใช่เป็นการกลั่นแกล้ง โจทก์ทำงานไม่ครบปีไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่าย ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการเข้าทำงานของโจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมในวันเดียวกันนั้นถือได้หรือไม่ว่าอายุการทำงานใหม่ของโจทก์นับติดต่อกับอายุการทำงานเดิมที่โจทก์เคยทำงานกับจำเลยมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีดังกล่าว พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงปรากฏว่าเดิมโจทก์ทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๔ ต่อมาโจทก์หาว่าจำเลยผิดสัญญา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ เรียกค่าเสียหายและเงินต่าง ๆ หลายประเภท โจทก์จำเลยตกลงกันได้ดังปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ บริษัทจำเลยยอมจ่ายเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ และยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราเงินเดือน เดือนละ ๑๒,๕๐๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป โดยจะชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าวในวันที่โจทก์กลับเข้าทำงานในวันที่ ๑ มีนาคมนั้น และจะชำระกันเอง โจทก์ยอมสละข้ออ้างและคำขออื่นหมด และจะกลับเข้าทำงานในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์ จำเลย ที่มีอยู่เดิมยุติลงแล้ว ด้วยการที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อโจทก์ จำเลย ตกลงประนีประนอมยอมความกันก็มิได้กล่าวถึงอายุการทำงานแต่เดิมว่าจะนับต่อกับอายุการทำงานใหม่อย่างไรหรือไม่เพราะมีช่วงเวลาที่เป็นความกันคั่นอยู่ถึง ๖ เดือน ทั้งโจทก์ก็มิได้ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่ ดังนี้ จะนับอายุการทำงานที่ตกลงกันใหม่ต่อจากอายุการทำงานเดิมโดยมิได้ตกลงกันให้ชัดแจ้งมิได้ การเข้าทำงานในช่วงหลังของโจทก์ต้องเริ่มต้นนับอายุการทำงานใหม่ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น อายุการทำงานในช่วงหลังของโจทก์จากวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๗ นับได้ ๑๕๓ วัน โจทก์ยังไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ สำหรับค่าชดเชยโจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ ๔๖ (๑) เป็นเงิน ๑๒,๕๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๒,๕๐๐ บาท ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง