แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท ข้อ 1 ระบุว่า “…ผู้ให้สัญญา (จำเลย) ยินยอมให้ผู้รับสัญญา (โจทก์) ขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกไปจากห้องเช่าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 โดยผู้ให้สัญญาได้ให้ค่าตอบแทนในการขนย้ายให้กับผู้รับสัญญาเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ในวันที่ทำสัญญานี้ โดยมอบให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษาไว้และจะมอบให้ผู้รับสัญญาเมื่อได้ส่งมอบห้องเช่าทั้งสามห้องคืนให้ผู้ให้สัญญาแล้ว”ก็ตาม แต่ในข้อ 5 ระบุว่า “คู่สัญญาตกลงดำเนินการตามข้อตกลงนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2531 หากพ้นกำหนดนี้ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก” แสดงว่าข้อตกลงเกี่ยวกับเวลาตามข้อ 1 ไม่ใช่ข้อตกลงเด็ดขาด คงเป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้นเท่านั้น แต่ข้อตกลงในข้อ 5 เป็นข้อตกลงที่เด็ดขาดว่าคู่สัญญาจะดำเนินการตามข้อตกลงนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2531 หากพ้นกำหนดนี้จึงให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ดังนั้น โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาจากข้อ 1 จนถึงข้อ 5 แล้ว ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้องและไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท
โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ มุกตุ๊กตาจีนและแจกันลายคราม การที่โจทก์ได้ติดต่อซื้อรถสามล้อเครื่องจำนวน 50 คัน จากบริษัท ว. โดยได้วางเงินมัดจำไว้2,500,000 บาท ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในกิจการค้าขายของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารทำให้โจทก์ไม่สามารถชำระเงินให้ผู้ขายรถสามล้อเครื่องจนผู้ขายริบมัดจำและทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่องก็ตามกรณีถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น และไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยผู้ให้เช่าได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามที่โจทก์อ้าง
แม้ตามฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ถูกริบมัดจำและขาดประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่อง ไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาในความเสียหายที่ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์ที่ถูกยึดก็ตาม แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์กล่าวด้วยว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองตามคำฟ้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถว กล่าวคือโจทก์ต้องสูญเสียความเชื่อถือจากธนาคารโดยไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารตามที่โจทก์ต้องการได้ ดังนี้พอถือได้ว่า โจทก์ได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะจำเลยทั้งสองยึดที่ดินและตึกแถวของโจทก์ ทำให้โจทก์ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งค่าเสียหายนี้ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยใช้แก่โจทก์ตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดการถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการถอนการยึดทรัพย์หากจำเลยไม่ยอมถอนการยึดให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเมื่อการบังคับคดีดังกล่าวเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในคดีเดิม ดังนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอในคดีนี้ให้บังคับจำเลยร่วมกันถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดในคดีดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์และจำเลยทั้งสองมีกรณีพิพาทเป็นคดีฟ้องร้องซึ่งกันและกันด้วยเรื่องสิทธิการเช่าห้องในคดีหมายเลขดำที่ 12338/2525 และคดีหมายเลขดำที่ 3065/2526 คดีหมายเลขแดงที่ 5708-9/2527 ของศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงระงับข้อพิพาททั้งหมด โดยโจทก์ตกลงยอมขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องเช่าดังกล่าวภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 และจำเลยทั้งสองยอมจ่ายเงินค่าตอบแทนในการขนย้ายให้โจทก์ 400,000 บาท และไม่ติดใจที่จะบังคับคดีในคดีทั้งหมด โดยเฉพาะคดีหมายเลขดำที่ 12338/2525 และคดีหมายเลขดำที่ 3065/2526คดีหมายเลขแดงที่ 5708-5709/2527 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว โจทก์และจำเลยทั้งสองจะถอนฎีกาให้เสร็จสิ้น เมื่อถึงกำหนดตามสัญญาโจทก์ได้ขนย้ายและถอนฎีกาให้จำเลยทั้งสองเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่จำเลยทั้งสองกลับผิดสัญญา โดยจำเลยทั้งสองไม่ยอมถอนฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ 12338/2525 และคดีหมายเลขดำที่ 3065/2526 คดีหมายเลขแดงที่ 5708-5709/2527 ดังกล่าว ทั้งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมตึกแถวของโจทก์เพื่อนำออกขายทอดตลาด การผิดสัญญาของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นเงิน 3,530,342.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนการยึดที่ดินและตึกแถวดังกล่าวของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,530,342.50 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,500,000 บาท กับค่าเสียหายวันละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่ออกจากห้องเช่าและถอนฎีกาภายในกำหนดที่ตกลงกันไว้ในสัญญา โจทก์ไม่เสียหาย เพราะความเสียหายตามฟ้องของโจทก์มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว และโจทก์ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ไม่ได้เพราะเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ในสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 1ระบุว่า “…ผู้ให้สัญญา (จำเลย) ยินยอมให้ผู้รับสัญญา (โจทก์) ขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกไปจากห้องเช่าเลขที่ 409, 411, 413 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 โดยผู้ให้สัญญาได้ให้ค่าตอบแทนในการขนย้ายให้กับผู้รับสัญญาเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ในวันที่ทำสัญญานี้ โดยมอบให้นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี เป็นผู้เก็บรักษาไว้และจะมอบให้ผู้รับสัญญาเมื่อได้ส่งมอบห้องเช่าทั้งสามห้องคืนให้ผู้ให้สัญญาแล้ว” ก็ตาม แต่ในข้อ 5 ระบุว่า “คู่สัญญาตกลงดำเนินการตามข้อตกลงนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2531 หากพ้นกำหนดนี้ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก” แสดงว่าข้อตกลงเกี่ยวกับเวลาตามข้อ 1 ไม่ใช่ข้อตกลงเด็ดขาด คงเป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้นเท่านั้น แต่ข้อตกลงในข้อ 5เป็นข้อตกลงที่เด็ดขาดว่าคู่สัญญา (โจทก์และจำเลยทั้งสอง) จะดำเนินการตามข้อตกลงนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2531 หากพ้นกำหนดนี้จึงให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกซึ่งโจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาจากข้อ 1จนถึงข้อ 5 แล้ว การนำสืบของโจทก์หาเป็นการนำสืบนอกฟ้องและเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองรับมอบห้องเช่าดังกล่าวจากโจทก์ในวันที่ 22 สิงหาคม 2531 ตามบันทึกการส่งมอบห้องเช่าเอกสารหมาย จ.2 และรับเงินค่าตอบแทนในการขนย้ายจำนวน400,000 บาท จากจำเลยทั้งสองและโจทก์ได้ถอนฟ้องฎีกาในวันที่ 23 สิงหาคม 2531ซึ่งเป็นวันหลังจากที่ได้รับเงินค่าตอบแทนในการขนย้ายจำนวน 400,000 บาท จากนายจิตติแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยทั้งสองไม่ถอนฟ้องฎีกาและถอนฟ้องคดีที่ได้ฟ้องโจทก์ไว้ทั้งหมดแล้วย่อมถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาข้อสองตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด ประเด็นข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดก็ตาม เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบพยานหลักฐานต่าง ๆ ครบถ้วนจนคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ต่อไป โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งในประเด็นข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองนำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์พิพาทของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โดยถูกบริษัทวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด ริบเงินมัดจำจำนวน 2,500,000 บาท และทำให้โจทก์ขาดรายได้จากค่าเช่ารถสามล้อเครื่อง 50 คัน ค่าเช่าวันละ 200 บาทต่อวัน รวมวันละ10,000 บาท รวมเป็นเงิน 980,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 3,530,342.50 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์นั้น นายสุเมธ เหลืองตรีโรจน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และเป็นบุตรโจทก์เบิกความว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ มุก ตุ๊กตาจีน และแจกันลายคราม โดยค้าขายมาเป็นเวลาประมาณ30 ปี ที่บริเวณย่านเยาวราชโดยโจทก์เปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่ห้องเช่าที่โจทก์เช่าจากจำเลยคดีนี้ โจทก์ได้กู้ยืมเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเยาวราช โดยใช้ทรัพย์ของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองนำยึดในคดีนี้ไว้เป็นประกันโดยการจดทะเบียนจำนองและธนาคารได้อนุมัติเงินกู้ไว้แล้วจำนวน 3,000,000 บาท เมื่อทรัพย์ดังกล่าวถูกยึด ธนาคารได้ยกเลิกวงเงินที่อนุมัติให้โจทก์ดังกล่าว ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ติดต่อซื้อรถสามล้อเครื่องจำนวน 50 คัน จากบริษัทวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด ตามเอกสารหมายจ.20 โดยได้วางเงินมัดจำไว้ 2,500,000 บาท นั้นจึงเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในกิจการค้าขายของโจทก์ที่โจทก์ได้ประกอบมาเป็นเวลา 30 ปี นั้น ฉะนั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติวงเงินกู้ 3,000,000 บาท จากธนาคาร ทำให้โจทก์ไม่สามารถชำระเงินให้ผู้ขายรถสามล้อเครื่องจนผู้ขายริบมัดจำและทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่องก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น และไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยทั้งสองได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 เพราะจำเลยทั้งสองจะทราบได้อย่างไรว่าโจทก์จะประกอบกิจการซื้อขายและให้เช่ารถสามล้อเครื่องขึ้นมาอีก จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามที่โจทก์อ้างดังกล่าวนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ตามฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ถูกริบมัดจำและขาดประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่องที่โจทก์ได้ซื้อจากบริษัทวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด ไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาในความเสียหายที่ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์ที่ถูกยึดก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ข้อ 6กล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองตามคำฟ้องในข้อ 5 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14296 ตำบลจักรวรรดิ์และตึกแถว 4 ชั้นครึ่ง เลขที่ 482/3 ตำบลจักรวรรดิ์ ดังกล่าวได้ กล่าวคือโจทก์ต้องสูญเสียความเชื่อถือจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเยาวราช โดยไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารตามที่โจทก์ต้องการได้” ซึ่งตามคำฟ้องดังกล่าวพอถือได้ว่า โจทก์ได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะจำเลยทั้งสองยึดที่ดินและตึกแถวของโจทก์ ทำให้โจทก์ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งค่าเสียหายนี้ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยใช้แก่โจทก์ตามที่เห็นสมควรได้ และเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่ถูกยึดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 เมื่อคำนึงถึงทำเลที่ตั้งของทรัพย์ที่ยึดและราคาของทรัพย์ที่ยึดแล้วจึงกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน300,000 บาท
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดการถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการถอนการยึดทรัพย์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมถอนการยึดให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ ประเด็นข้อนี้โจทก์ได้กล่าวอ้างในฎีกาว่า ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองไปถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดเพื่อคืนให้แก่โจทก์ด้วยเห็นว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลคดีนี้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำขอของโจทก์เพราะการบังคับคดีดังกล่าวเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในคดีเดิม โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอในคดีนี้ให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดในคดีดังกล่าวได้
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่มกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์