คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ขาดนัดให้การ ศาลนัดพิจารณาฝ่ายเดียวโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน ศาลจำหน่ายคดี โจทก์ขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้

ย่อยาว

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ขอแก้ฟ้อง แต่โจทก์ไม่นำหมายส่ง ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม มาตรา 174(1)และโจทก์ขาดนัดตาม มาตรา 201 โจทก์ร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 29ธันวาคม 2520 เวลา 9.00 นาฬิกา เมื่อศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความได้ ศาลชั้นต้นคงดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปเฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาที่นัดไว้แล้ว วันที่ 29 ธันวาคม 2520 เวลา 9.00 นาฬิกา จึงเป็นวันสืบพยานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ขอให้สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวในวันที่ 29 ธันวาคม 2520 เวลา 9.00 นาฬิกา ตามที่นัดไว้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ รอจำเลยที่ 2 นั้น มิได้หมายความว่าศาลชั้นต้นประสงค์จะไม่ให้สืบพยานโจทก์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2520 เวลา9.00 นาฬิกา ตามที่นัดไว้แล้วดังที่โจทก์ฎีกา หากแต่หมายความว่าการที่จะสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามที่โจทก์ขอหรือไม่นั้น ต้องรอฟังว่าจำเลยที่ 2จะขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ก่อน เมื่อโจทก์ทราบวันนัดสืบพยานแล้วไม่มาศาลในวันสืบพยานโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้อง จึงถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1แล้ว กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201ซึ่งห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 โดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207”

พิพากษายืน

Share