แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายหน้าที่จะได้รับบำเหน็จหรือค่านายหน้านั้น ในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญาต่อกันโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยาย ฉะนั้น ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียวเรียกร้องเอาค่าบำเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย นั้น จึงหามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่านายหน้า ๓๘๑,๒๘๖.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยโดยกล่าวในฟ้องว่า บริษัท คอลเกต ปาล์โอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินของจำเลยโดยโจทก์เป็นผู้ชี้ช่องและจัดการในฐานะเป็นนายหน้า โจทก์ติดต่อขอรับเงินค่านายหน้าต่อจำเลย จำเลยกลับเพิกเฉยเสีย ต่อมาจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่าย ขอให้ศาลบังคับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย และพิพากษาว่า โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บุคคลที่จะต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมายแก่ผู้นั้น เป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทำให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการมอบหมายกิจการ แก่กัน ก็ไม่จำต้องให้ค่าบำเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบำเหน็จหรือค่านายหน้า นั้น ในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญาต่อกัน โดยชัดแจ้งตามมาตรา ๘๔๕ หรือมีสัญญาต่อกันโดยปริยาย ตามมาตรา ๘๔๖ ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย นั้น จึงหามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่ ฉะนั้น ไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่นโจทก์นี้ จะหาประโยชน์จากการเป็นนายหน้าเป็นปกติธุระหรือไม่ก็ตาม หากต้องการประโยชน์คือบำเหน็จค่านายหน้าจากผู้ใด จะต้องมีสัญญากับผู้นั้นโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย จะกระทำไปฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ตกลงรับรู้ด้วยอย่างใดแล้วมาอ้างว่าเป็นนายหน้าเรียกร้อง เอาบำเหน็จย่อมไม่ได้อยู่เอง ในคดีนี้ ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ตั้งเป็นข้อหามาเป็นกรณีที่โจทก์กระทำไปแต่ฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายหนึ่ง คือ จำเลยมิได้ตกลงรับรู้ด้วยไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายอย่างใด การที่โจทก์อ้างว่าการซื้อขายที่ดินในประเทศไทยเท่าที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่ว ๆ ไป เป็นที่คาดหมายได้โดยพฤติการณ์ว่าย่อม ำให้แต่เพื่อจะเอาบำเหน็จนายหน้า จึงถือว่า ตกลงกันโดยปริยาย มาตรา ๘๔๖ นั้นก็หาใช่ไม่ เพราะตกลงโดยปริยายตามมาตรานี้ หมายถึงกรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้าแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ยังไม่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้า
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น