คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัย พ.ร.บ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ฯ โดยกล่าวว่า จำเลยได้เข้าไปทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าพนักงานแลกเปลี่ยนเงิน โดยรับรองขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากจำเลยได้ขอและรับอนุญาตให้ส่งสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตออกนอกราชอาณาจักร เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้นแม้โจทก์จะมิได้ดำเนินคดีอาญาตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ฯ บัญญัติโทษไว้ ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะดำเนินคดีทางแพ่งแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตามกฎกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ ๔) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ความว่า ผู้ใดส่งของออกนอกราชอาณาจักร ต้องจัดให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศเป็นค่าของนั้น และเงินตรานั้นต้องเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิงก์ หรือดอลล่าห์สหรัฐอเมริกา หรือเงินตราที่เจ้าพนักงานกำหนด ประโยชน์สาธารณะ เงินปอนด์สเตอร์ลิงค์ หรือเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเงินตราที่เจ้าพนักงานกำหนดนั้น จะได้มาด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ต้องขายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผ่านธนาคารรับอนุญาต จำเลยได้ขอและรับอนุญาตให้ส่งสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตออกนอกประเทศ คิดเป็นเงิน ๑๗,๕๐๐ ปอนด์สเตอร์ลิงก์ จำเลยได้ทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าพนักวานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยรับรองขายเงินตราต่างประเทศตามจำนวนดังกล่าวภายใน ๖ เดือน ครั้งครบ ๖ เดือน นับแต่จำเลยส่งสินค้า ออกทุกประเภทจำเลยได้ขายเงินตราต่างประเทศให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ๒ คราว คงค้างอยู่ ๑๗,๐๕๕ ปอนด์เสตอร์ลิงก์ จึงขอให้จำเลยขายเงินตราต่างประเทศที่ยังขาดอยู่ให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่า การฟ้องโดยอาศัยพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ฯ เป็นกฎหมายทางอาญา เพราะบัญญัติโทษไว้ แต่โจทก์ไม่ฟ้องเอาผิดแก่จำเลยทางอาญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย นอกจากนั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้อื่นอีก
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยได้ยอมผูกพันตามโดยขอและรับอนุญาตในการส่งสินค้าออกไปขายและทำคำรับรองให้ไว้ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ จำเลยมิได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้น แม้โจทก์มิดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิจำดำเนินคดีทางแพ่งแก่จำเลยคดีนี้
พิพากษายืน

Share