แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานฉ้อโกงกับความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานนั้น อาจเป็นความผิดต่างกรรมได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบรรยายฟ้องของโจทก์ ถ้าคำฟ้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางาน การกระทำตามฟ้องย่อมไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 8,73
โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็นสองตอน ฟ้องข้อ (ก) บรรยายว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนทั่วไปเรียกรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนการจัดหางานจากคนหางานและผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ส่วนข้อ (ข)โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จโฆษณาในหนังสือพิมพ์เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจหารายได้พิเศษเพื่อร่วมงานกับบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศอันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยกับพวกดังกล่าวนำผู้สมัครไปรวมกลุ่มพูดคุยที่ต่างจังหวัด โดยไม่ได้คัดตัวนักแสดงแต่อย่างใด และจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดให้ผู้สมัครทำงานตามที่โฆษณาได้ข้อความตามข้อ (ข) ไม่มีข้อความใดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น การที่จำเลยกับพวกไม่สามารถจัดให้ได้ทำงาน มิได้หมายความเสมอไปว่าจะต้องเกิดจากเพราะมิได้มีเจตนาจัดหางานอันจะถือว่าไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 8, 73 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนรวมทั้งสิ้น22,037 บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 8, 73 ฐานจัดหางานให้คนหางานทำในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ลงโทษจำคุก2 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้งภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติในวันนี้เป็นวันแรกไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ความผิดฐานอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงกับความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานนั้น อาจเป็นความผิดต่างกรรมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบรรยายฟ้องของโจทก์ ถ้าคำฟ้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางาน การกระทำตามฟ้องย่อมไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 8, 73 สำหรับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็นสองตอน ฟ้องข้อ (ก) บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนทั่วไปเรียกรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนการจัดหางานจากคนหางานและผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ส่วนข้อ (ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงประชาชนโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จโฆษณาในหนังสือพิมพ์เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจหารายได้พิเศษเพื่อร่วมงานกับบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ได้ค่าตัววันละ 700 บาท ถึง 1,500บาท ค่าตัวจ่ายวันต่อวัน โดยผู้สมัครต้องเสียเงินค่าบริการจัดหางานให้จำเลยกับพวกอันเป็นความเท็จซึ่งความจริงแล้วจำเลยกับพวกดังกล่าวนำผู้สมัครไปรวมกลุ่มพูดคุยที่ต่างจังหวัดโดยไม่ได้คัดตัวนักแสดงแต่อย่างใดและจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดให้ผู้สมัครทำงานตามที่โฆษณาได้ ข้อความตามข้อ (ข) ไม่มีข้อความใดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้นการที่จำเลยกับพวกไม่สามารถจัดให้ได้ทำงานมิได้หมายความเสมอไปว่าจะต้องเกิดจากเพราะมิได้มีเจตนาจัดหางานอันจะถือว่าไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี