คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7043/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ให้ถ้อยคำต่อจำเลยในฐานะโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ภ. อายุ 4 ปีเศษ ดังนี้ การแจ้งของโจทก์จึงเป็นการแจ้งแทนบุตรผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1570 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2536 เด็กหญิงภัชญา ผาติกุล โดยโจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยโดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาระหว่างสัญญามีผลบังคับ เด็กหญิงภัชญาถึงแก่ความตายด้วยโรคไข้เลือดออก จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามข้อตกลงในสัญญาแต่จำเลยไม่ชำระ กลับมีหนังสือบอกล้างนิติกรรมอ้างว่าผู้เอาประกันภัยบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 101,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะกรรมเนื่องจากโจทก์ปิดบังไม่เปิดเผยความจริงว่าเด็กหญิงภัชญาผู้ตายมีสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์คลอดก่อนกำหนดและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นประจำตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตายทำให้จำเลยตกลงรับประกันชีวิตเด็กหญิงภัชญาไว้ หากจำเลยทราบความจริงก็จะไม่รับประกันภัย หลังจากทราบความจริงดังกล่าวจำเลยจึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 1,875 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาว่าในการสมัครทำประกันชีวิตรายนี้ เด็กหญิงภัชญาผู้เอาประกันอายุเพียง 4 ปีเศษ การให้ถ้อยคำตอบคำถามต้องทำโดยโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรม ถือเสมือนเด็กหญิงภัชญาเป็นผู้ให้ถ้อยคำด้วยตนเองเมื่อเป็นเท็จทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะส่วนแรกที่ว่าการให้ถ้อยคำของโจทก์ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงภัชญา ถือเสมือนเด็กหญิงภัชญาเป็นผู้ให้ถ้อยคำด้วยตนเองนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1570 คำบอกกล่าวที่ผู้ใช้อำนาจปกครองแจ้งไปหรือรับแจ้งมา ให้ถือว่าเป็นคำบอกกล่าวที่บุตรได้แจ้งไปหรือรับแจ้งมา การแจ้งของโจทก์จึงเป็นการแจ้งแทนบุตรผู้เยาว์แล้ว ส่วนการแจ้งจะเป็นเท็จอันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะหรือไม่ และจำเลยได้บอกล้างโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นแห่งคดี ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยตามที่โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้ ดังนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวและพิพากษาใหม่ตามรูปความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 240(3)

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share