คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6921/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องบรรยายว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ทั้งสองเครื่องหมายเหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้และที่ยื่นขอจดทะเบียน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยโจทก์ได้แนบเอกสารเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และระบุรายละเอียดในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของจำเลยโดยแนบเอกสารมาท้ายฟ้องด้วย ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งจำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”JACKSON” กับอักษรไทยคำว่า “แจ็คสัน” และเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าจากบริษัท จ. ส่วนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า แม้จะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนแต่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับกางเกงยีนที่โจทก์ตกลงให้บริษัท ด.เป็นตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSONG” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า”JACKSON” มีรูปกีตาร์ด้านหน้าดีกว่าจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จะยังมิได้มีการจดทะเบียน โจทก์ก็มีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ โดยนัยแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1)
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้เพิ่มอักษรโรมันตัว G เข้าไปที่ข้างท้ายคำว่า”JACKSON” อีก 1 ตัว ส่วนลักษณะการเขียนตัวอักษรและการวางตัวอักษรเหมือนกันสำเนียงเรียกขานคล้ายกัน และโดยเฉพาะป้ายติดกางเกงยีนอักษรตัว G ปักด้วยด้ายสีขาวและอยู่บนพื้นสีขาว ส่วนตัวอักษรอื่นอีก 7 ตัว คือ JACKSON ปักด้วยด้ายสีดำ หาไม่เพ่งพินิจและสังเกตให้รอบคอบจะไม่เห็นตัวอักษร G ดังกล่าวส่อเจตนาของจำเลยว่ามุ่งจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้รูปภาพคนใส่กางเกงยีนและสีสันบนป้ายโฆษณาซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของจำเลยเหมือนกับป้ายยี่ห้อและป้ายโฆษณาซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของโจทก์ทุกประการเครื่องหมายการค้าของจำเลยแม้จะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีเส้นตรงขีดอยู่ใต้อักษรโรมันคำว่า “JACKSONG” แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นรายละเอียดปลีกย่อย สาระสำคัญและจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “JACKSON” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิด การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นคำขอจดทะเบียนและนำไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์ ย่อมเป็นการลวงให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

Share