คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7039/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่จะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ต้องเป็นการโอนหรือการกระทำให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนการโอนหรือการกระทำและทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ เสียเปรียบ ปรากฏว่าการทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและการจดทะเบียนจำนองตลอดจนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองระหว่างผู้ขายและจำเลยที่ 2 ได้กระทำในวันเดียวกันและต่อเนื่องกัน และยังปรากฏว่าธนาคารผู้คัดค้านจ่ายเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากจดทะเบียนจำนองแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 อยู่แล้วก่อนจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทราคา 2,250,000 บาท และจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทอีกเป็นเงิน 1,700,000 บาทจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านเพื่อนำมาชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังค้างชำระอยู่เพียง 2,000,000 บาท โดยทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่กู้ยืมมา เห็นได้ว่า ราคาที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างมีจำนวนสูงกว่าหนี้จำนองมาก การที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านมาชำระค่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นย่อมเป็นผลดีแก่เจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีกรณีที่ผู้คัดค้านจะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2538ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะล้มละลาย

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 48586ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 26 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2536 จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินไว้แก่ผู้คัดค้าน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองภายหลังจากถูกโจทก์ฟ้องล้มละลายโดยรู้ถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 48586 ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 โดยให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหากผู้คัดค้านไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนและถ้าไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมให้ผู้คัดค้านใช้ราคาเป็นเงิน2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 48586ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้จำนองกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับจำนองตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่ไปให้ถือเอาคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำรอ้งของผู้ร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 ต่อมาวันที่ 30 เมษายน2536 จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินผู้คัดค้าน 2,000,000 บาท เพื่อนำไปชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 48586 ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครซึ่งจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ตามเอกสารหมาย ค.7 และค่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ในวันเดียวกันกับที่ทำสัญญากู้ยืมเงิน ผู้คัดค้านมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากจดทะเบียนจำนองเรียบร้อยแล้ว และจำเลยที่ 2 นำเงินกู้ยืมที่ได้รับมาทั้งหมดชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับโอนมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดวันที่ 19 ธันวาคม 2537 และพิพากษาให้ล้มละลายวันที่ 11 สิงหาคม 2538 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่จะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 ต้องเป็นการโอนหรือการกระทำในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนการโอนหรือการกระทำ และการโอนหรือการกระทำนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของลูกหนี้เสียเปรียบสำหรับคดีนี้ปรากฏว่าการทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและการจดทะเบียนจำนองตามเอกสารหมาย ค.1 ถึง ค.3 ตลอดจนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองระหว่างผู้ขายและจำเลยที่ 2ได้กระทำในวันเดียวกันและต่อเนื่องกัน คือในวันที่ 30 เมษายน 2536 และยังปรากฏว่าผู้คัดค้านจ่ายเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากจดทะเบียนจำนองแล้วกรณีนี้จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 อยู่แล้วก่อนจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง นอกจากนั้นยังได้ความว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทราคา 2,250,000 บาท และจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ทวีชัยสหกิจการสร้างอาคารในที่ดินพิพาทอีกเป็นเงิน 1,700,000 บาท รวมราคาที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 3,950,000 บาท จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านเพื่อนำมาชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังค้างชำระอยู่เพียง 2,000,000บาท และทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่กู้ยืมมา เห็นได้ว่าราคาที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างมีจำนวนสูงกว่าหนี้จำนองมาก การที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านมาชำระค่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างทำให้จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นผลดีแก่เจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 2จึงไม่มีกรณีที่ผู้คัดค้านจะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องไม่อาจจะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share