คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7029/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบรับเงินพิมพ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งหมดมีชื่อบริษัทโจทก์ที่หัวกระดาษถัดลงมาเป็นช่องจ่ายให้แก่ใครซึ่งได้กรอกชื่อจำเลยถัดลงมาเป็นช่องCREDITA/CCODEDATE4-12-92ถัดลงมาเป็นช่องกรอกรายการและจำนวนเงินมีกรอกรายการเป็นอักษรภาษาไทยว่า”ได้รับเงินแล้วจำนวน”และกรอกจำนวนเงินเป็นตัวอักษรและตัวเลขว่า”สามแสนบาทถ้วน”และ”300,000″มุมล่างด้านขวามือมีช่องสำหรับลงชื่อผู้รับเงินมีลายเซ็นผู้รับเงินปรากฎอยู่ในช่องดังกล่าวซึ่งคำฟ้องระบุว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน300,000บาทโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินจำนวนนี้ไปจากโจทก์จำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์โดยไม่ปรากฎข้อต่อสู้ว่าเหตุใดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวคืนโจทก์ถือได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์จึงถือได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์ 300,000 บาท จำเลยได้รับเงินและลงลายมือชื่อรับเงินในเอกสารตามสำเนาเอกสารหมายเลข 3 ท้ายฟ้องซึ่งเป็นหลักฐานการกู้เงิน โดยยอมรับด้วยวาจาว่าจะคืนเงินแก่โจทก์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันกู้ ปรากฎว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้ 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกู้จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ เอกสารตามสำเนาท้ายฟ้องหมายเลข 3 ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า เอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องจะถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้หรือไม่ หลักฐานดังกล่าวคือเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งได้แนบสำเนาไว้ท้ายฟ้องหมายเลข 3 มีรูปแบบเป็นใบรับเงินพิมพ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งหมดมีชื่อบริษัทโจทก์ที่หัวกระดาษถัดลงมาเป็นช่องจ่ายให้แก่ใครซึ่งได้กรอกคำว่า “คุณสากล” คือชื่อจำเลยถัดลงมาเป็นช่องCREDIT A/C CODE ..DATE 4-12-92 ถัดลงมาเป็นช่องกรอกรายการและจำนวนเงิน มีกรอกรายการเป็นอักษรภาษาไทยว่า”ได้รับเงินแล้วจำนวน” และกรอกจำนวนเงินเป็นตัวอักษรและตัวเลขว่า”สามแสนบาทถ้วน” และ “300,000 บาท” มุมล่างด้านขวามือมีช่องสำหรับลงชื่อผู้รับเงิน มีลายเซ็นผู้รับเงินปรากฎอยู่ในช่องดังกล่าว ซึ่งคำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงิน จำเลยให้การมิได้ปฏิเสธในข้อนี้ ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน 300,000 บาท โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินจำนวนนี้ไปจากโจทก์ จำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ โดยไม่ปรากฎข้อต่อสู้ว่าเหตุใดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวคืนโจทก์ กรณีถือได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์ จึงพอถือได้ว่าเอกสารหมาย จ.3 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share