คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารฯ แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 162,323.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 162,323.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจำนวน 100,000 บาท และหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันตามสัญญากู้เงินในวงเงินไม่เกิน 41,000 บาท และตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จึงฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 โจทก์จ่ายเงินค่าประกันชดเชยให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 141,000 บาท คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) อย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แทนจำเลยที่ 1 แล้วจำนวน 141,000 บาท เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่งเป็นจำนวน 70,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ใช่จำนวน 81,161.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ฎีกา ซึ่งแม้จะต่างจากคำฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนการที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้เพียงใด เป็นเรื่องการปรับบทกฎหมาย แม้โจทก์จะฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 เกินกว่าสิทธิซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลก็พิพากษาปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ โดยพิพากษาให้ไม่เกินคำขอของโจทก์ มิใช่เรื่องที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 70,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 10,661.91 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลเป็นพับ

Share