แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดลักษณะผู้กระทำความผิดต้องเป็น “ผู้ไม่มีสัญชาติไทย” เป็น “ผู้ใด” มีผลให้ผู้กระทำความผิดจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ และในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีผลให้จำเลยไม่ต้องรับโทษในฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนี้ เพราะจำเลยมิใช่ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 14 ที่แก้ไข
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกับ ย. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) แต่กลับระบุถึงสัญชาติจำเลยว่าจำเลยมีสัญชาติไทยอันผิดไปจากลักษณะของบุคคลที่จะเป็นตัวการกระทำความผิดตามบทมาตรานี้เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องเช่นนี้ ก็ย่อมฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องนี้เป็นตัวการร่วมกับนาย ย. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยกระทำความผิด แต่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ไม่มีสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 264, 265, 267, 268 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 267, 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบาท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ไปที่ว่าการอำเภอเปือยน้อย ไม่ได้แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ เป็นฎีกาในทำนองปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพ และเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่า ภายหลังจากวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้แล้ว มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ออกมาใช้บังคับโดยมีการบัญญัติระวางโทษหนักขึ้น แต่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุแต่เพียงว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 และลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าได้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยในการลงโทษจำเลยหรือไม่ จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ปรับบทความผิดจำเลยในฐานนี้ ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และวางโทษจำคุกจำเลย 1 ปี แสดงว่าศาลชั้นต้นใช้บทกฎหมาย มาตรา 14 ที่แก้ไขใหม่แล้ว ในการปรับบทความผิดและลงโทษจำเลยเพราะความตามมาตรา 14 (1) ถึง (3) มีแต่เฉพาะในบทบัญญัติมาตรา 14 ที่แก้ไขใหม่แล้วเท่านั้น และมีปัญหาต่อไปว่าบทกฎหมายใดที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากัน ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดลักษณะผู้กระทำความผิดต้องเป็น “ผู้ไม่มีสัญชาติไทย” เป็น “ผู้ใด” มีผลให้ผู้กระทำความผิดจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ และในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีผลให้จำเลยไม่ต้องรับโทษในฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนี้ เพราะจำเลยมิใช่ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 14 ที่แก้ไขใหม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก และปรากฏว่าตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกับนายยูผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ดังกล่าว แต่กลับระบุถึงสัญชาติจำเลยว่าจำเลยมีสัญชาติไทยอันผิดไปจากลักษณะของบุคคลที่จะเป็นตัวการกระทำความผิดตามบทมาตรานี้ เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องเช่นนี้ ก็ย่อมฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องนี้เป็นตัวการร่วมกับนายยูผู้ไม่มีสัญชาติไทยกระทำความผิดพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะมีสัญชาติไทยก็อาจมีความผิดด้วยการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ไม่มีสัญชาติไทยในการกระทำความผิด อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งการที่จำเลยร่วมกับนายยูผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยแจ้งและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่านายยูมีชื่อว่านายนิกรที่มีสัญชาติไทย ย่อมเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในขณะที่นายยูผู้ไม่มีสัญชาติไทยกระทำความผิดนี้ จำเลยย่อมมีความผิดเพียงฐานสนับสนุนผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดจึงไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ซึ่งตามที่ได้วินิจฉัยมานี้ ศาลฎีกาก็ย่อมต้องปรับบทความผิดและกำหนดโทษจำเลยตามบทความผิดที่ถูกต้องด้วย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อนี้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ด้วยว่า ในส่วนการบรรยายฟ้องเฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารนั้น โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่านายยูได้ลงลายมือชื่อของนายนิกร ในช่องผู้ยื่นคำขอในเอกสารแบบคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) อันเป็นการแสดงว่านายยูเป็นผู้ลงลายมือชื่อปลอมของนายนิกรลงในเอกสารดังกล่าวเพียงผู้เดียว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า การร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและกระทำปลอมเอกสารของจำเลยกับนายยูดังกล่าว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่หลงเชื่อและออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายยูในนามของนายนิกรให้นายยูรับไปก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยนี้กระทำการอย่างใดที่เป็นการร่วมกระทำผิดกับนายยูในการลงลายมือชื่อปลอมดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพในความผิดฐานปลอมเอกสารตามฟ้องแต่เมื่อคำฟ้องในส่วนนี้มิได้บรรยายให้เห็นถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานนี้กับนายยูอย่างไรแล้ว ก็ย่อมฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ได้และศาลฎีกาก็มีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยเองได้ ทั้งนี้ ตามบทกฎหมายดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้วเช่นกัน คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ ปัญหานี้ เห็นว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่มีส่วนทำให้คนต่างด้าวสามารถแอบอ้างว่ามีสัญชาติไทย โดยได้บัตรประจำตัวประชาชนของนายนิกร ผู้มีสัญชาติไทยและถึงแก่ความตายไปแล้วไปใช้ในการแอบอ้างว่านายยูเป็นนายนิกรผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศได้แล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหายผิดพลาดคลาดเคลื่อนในระบบการทะเบียนราษฎรอันเป็นระบบข้อมูลสำคัญของประเทศด้วย จึงเป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดที่ร้ายแรง หากรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยจะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อไป จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และความผิดในส่วนการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานกับใช้และอ้างเอกสารดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และ 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 โดยจำเลยเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 267 ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก เท่านั้น ตามมาตรา 268 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก