คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมจำเลยกับทีมบริษัทอื่นซึ่งจำเลยจัดให้มีขึ้นเป็นกิจกรรมพิเศษนอกเวลาทำงานตามปกติ โจทก์ดื่มสุราจนเมาได้เข้าไปท้าพนันกับ อ.รองประธานกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ เมื่อทีมจำเลยชนะโจทก์จึงไปทวงสุราจาก อ.และยื้อยุดฉุดมืออ.ที่ประรำพิธีทำให้ อ.นิ้วมือเคล็ด ดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีเจตนาทำร้ายร่างกาย อ.แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่สมควรก็ตามแต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ห้ามมิให้ทำร้ายต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้โจทก์.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยดื่มสุราในเวลาทำงาน เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งโจทก์ไม่มีความผิด จึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ด้วย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยให้การว่า วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันทำงานตามปกติ จำเลยได้จัดกิจกรรมพิเศษระหว่างเวลาทำงาน โดยจัดแข่งขันฟุตบอลที่สนามกีฬาหัวหมากขณะที่กำลังแข่งขัน โจทก์ดื่มสุราเมาครองสติไม่ได้ และได้เข้ายื้อยุดกรรมการของจำเลยผู้หนึ่งจนได้รับบาดเจ็บ เป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 26,520 บาทคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ‘ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จะเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 42.1 จะต้องเป็นการทำร้ายผู้บังคับบัญชาโดยเจตนา ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อบังคับดังกล่าว นั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวด 10 ว่าด้วยมาตรการโทษทางวินัย ข้อ 42.1 ระบุว่า โทษถูกไล่ออกคือ โดยทุจริตปฏิบัติผิดหน้าที่ของตนหรือกระทำความผิดกฎหมายอาญาต่อบริษัท หรือผู้บังคับบัญชาโดยเจตนา…ฯลฯ…ทำร้ายร่างกายต่อผู้บังคับบัญชาฯลฯ ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยได้จัดให้มีกิจกรรมพิเศษโดยแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมจำเลยกับทีมของบริษัทสิทธิผลมอเตอร์จำกัด ระหว่างการแข่งขันดังกล่าวซึ่งอยู่นอกเวลาทำงานตามปกติ โจทก์ดื่มสุราจนเมา ได้เข้าไปท้าพนันกับนายอีนูไก รองประธานกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ว่า ถ้าทีมของจำเลยชนะ นายอีนูไกจะต้องให้สุราแก่โจทก์ 1 ขวด เมื่อทีมจำเลยชนะ โจทก์จึงไปทวงสุราจากนายอีนูไก และยื้อยุดฉุดมือนายอีนูไก ที่ปะรำพิธี ทำให้นายอีนูไกนิ้วมือเคล็ด ดังนี้เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว เป็นเรื่องโจทก์มิได้มีเจตนาทำร้ายร่างกายนายอีนูไก แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่สมควรก็ตาม แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 42.1 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น กรณีจะต้องปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการดังที่ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แต่ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ยังไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ส่วนในเรื่องเงินบำเหน็จนั้น ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลย ได้ระบุเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จไว้ว่า ข้อ 4.1บริษัทจะไม่จ่ายเงินบำเหน็จแก่พนักงานดังนี้ ก. ลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบ ข. ถูกปลดออก และตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวได้ให้นิยามของคำว่า ‘ปลดออก’ ไว้ว่าหมายถึง บริษัทเลิกจ้างโดยที่พนักงานผู้นั้นกระทำผิดระเบียบของบริษัทฯ ตามข้อ 42 หมวดที่ 10 ของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงาน’ เมื่อกรณีของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 42.1 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น กรณีจึงมิใช่เป็นการ ‘ปลดออก’ อันเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยข้อ 4.1 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เป็นเงิน 27,560 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คู่ความแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 3 กรกฎาคม2529 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,420 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 27,560 บาท ให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share