คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 149,362.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 149,362.90 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งยึดรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กข 2958 มหาสารคาม ไว้ชั่วคราว ต่อมาในคดีส่วนอาญาพนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3260/2546 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกโจทก์ มีกำหนด 6 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3085/2547 ของศาลชั้นต้น ระหว่างโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนำรถยนต์ของโจทก์ออกขายทอดตลาดได้เงิน 420,000 บาท โดยนำเงิน 270,637.10 บาท ไปชำระค่าเช่าซื้อแก่บริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ ส่วนเงินที่เหลือ 149,362.90 บาท มีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราว เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดเงิน 149,362.90 บาท เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำวินิจฉัยว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้ริบเงินของโจทก์จำนวนดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เงิน 149,362.90 บาท เป็นของโจทก์ มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ริบเงิน 149,362.90 บาท ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งริบเงินจำนวนดังกล่าว คดีถึงที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2550 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามยื่นฎีกา และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ศาลฎีกาพิพากษายืน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า อุทธรณ์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติดังกล่าวข้างต้น กรณียังไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 หรือไม่ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อศาลฎีกาในส่วนคดีอาญาพิพากษาให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยย่อมไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงต้องคืนเงิน 149,362.90 บาท แก่โจทก์ เห็นว่า มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าศาลฎีกาในคดีส่วนอาญาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share