คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ต้องทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานเพื่อตอบแทนค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน แต่โจทก์ กลับเอาเวลาที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยไปว่าความให้แก่ จ. ซึ่งฟ้อง ผู้บังคับบัญชาในข้อหาหมิ่นประมาทอันสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ จำเลย เป็นการสนับสนุนให้พนักงานของจำเลยฟ้องร้องกันเอง ก่อให้เกิด การแตกความสามัคคีระหว่างพนักงานอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าว นอกจากจะเสียเวลาปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งจะต้องทำงานให้แก่จำเลยแล้ว ยังทำให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงาน หลายคนของจำเลยต้องมาเสียเวลาเกี่ยวกับเรื่องนี้ การกระทำของโจทก์ จึงเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายข้อบังคับ คำสั่งและระเบียบ แบบแผนให้เกิดผลดีแก่จำเลยตามข้อบังคับของจำเลยด้วย เมื่อโจทก์ กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิลงโทษ โจทก์ได้ตามข้อบังคับการทำงานของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพ.ศ. 2501 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยปัจจุบันเป็นนิติกร 8ฝ่ายกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ กรณีโจทก์ได้ร่างคำฟ้องคดีอาญาให้แก่นายจำลอง สังข์เมือง ฟ้องนายสมชาย สอนกลิ่น ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายจำลองในข้อหาหมิ่นประมาท เป็นการสนับสนุนให้พนักงานฟ้องร้องกันเอง อันเป็นสาเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีและอาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความกระด้างกระเดื่อง ต่อผู้บังคับบัญชาเกิดความไม่สงบในสังคมแรงงานและการบริหารงานของจำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชาและพนักงานหลายคนต้องเสียเวลาในเรื่องนี้โดยไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อหน่วยงาน กับเป็นเหตุให้เสียการปกครองบังคับบัญชา จึงเข้าข่ายกระทำผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนให้เกิดผลดีแก่จำเลยที่ 1และไม่รักษาความสามัคคีระหว่างพนักงานตามข้อ 7(1) และข้อ 7(12) แห่งข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงาน พ.ศ. 2533แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวว่า คำสั่งจำเลยที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนเสนอลงนามนั้นไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงานกล่าวคือ ไม่มีการสืบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงก่อนตามข้อบังคับข้อ 8 ไม่มีการแจ้งข้อหาหรือคำกล่าวโทษให้โจทก์ทราบ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่ให้โอกาสโจทก์ชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อหาได้ตามควรแก่กรณี นอกจากนี้การสอบสวนไม่มีการชี้ชัดหรือมีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้แจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ไม่มีเหตุผลหรือน้ำหนักเพียงพอที่จะพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เอาเวลาปฏิบัติงานไปทำงานส่วนตัว ถือได้ว่าเป็นการไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงาน พ.ศ. 2533 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 7(1) และ (4)ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1ตำแหน่งนิติกร 8 ฝ่ายกฎหมาย โจทก์รับเป็นทนายความให้แก่นายจำลองสังข์เมืองหัวหน้าแผนกเครื่องวัดไฟฟ้า กองอุปกรณ์จำหน่าย ฝ่ายแผนผังและอุปกรณ์งานจำหน่ายของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ร่างฟ้องและรับเป็นทนายความให้นายจำลองฟ้องนายสมชายผู้บังคับบัญชาในข้อหาหมิ่นประมาท เพราะเห็นว่านายจำลองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายสมชาย เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งนายสมชาย ที่จำเลยอ้างว่าการกระทำของโจทก์เป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคี อาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาเกิดความไม่สงบในสังคมแรงงานทำให้เสียการปกครองนั้น เป็นเรื่องที่กริ่งเกรงเข้าใจกันไปเอง การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดทางวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนให้เกิดผลดีแก่จำเลยที่ 1 และไม่รักษาความสามัคคีระหว่างพนักงานตามข้อ 7(1)(12)แห่งข้อบังคับของจำเลยที่ 1 พ.ศ. 2533 ที่แก้ไขแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์ทำผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนให้เกิดผลดีแก่จำเลยที่ 1 และไม่รักษาความสามัคคีระหว่างพนักงานตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงาน พ.ศ. 2533ที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 7(1) และ (12) หรือไม่ และมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ต้องทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันและเวลาทำงานเพื่อตอบแทนค่าจ้าง ที่จำเลยที่ 1จ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน แต่โจทก์กลับเอาเวลาที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยที่ 1ไปว่าความให้แก่นายจำลองซึ่งฟ้องนายสมชายผู้บังคับบัญชาในข้อหาหมิ่นประมาทอันสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการสนับสนุนให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ฟ้องร้องกันเองก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างพนักงานอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 7(12) และการกระทำของโจทก์ดังกล่าว นอกจากจะเสียเวลาปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งจะต้องทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ยังทำให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานหลายคนของจำเลยที่ 1ต้องมาเสียเวลาเกี่ยวกับเรื่องนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ข้อบังคับ คำสั่งและระเบียบแบบแผนให้เกิดผลดีแก่จำเลยที่ 1ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 7(1) ด้วย เมื่อโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 ข้อ 7(1) และ (12) จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิลงโทษโจทก์ได้ คำสั่งที่จำเลยที่ 1 ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์นั้นชอบด้วยข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share