คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อาจจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในส่วนแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้กระทำความผิดคดีนี้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดในส่วนแพ่งได้ ผู้ร้องชอบที่จะนำคดีไปฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคดีแพ่งใหม่ต่างหากจากคดีนี้
จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถกระบะกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ผู้ร้องนั่งโดยสารมาด้วยต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิด เมื่อผู้ร้องมิได้มีส่วนทำความผิดด้วยและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อผู้ร้อง ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วยกันเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานายพิสิทธิ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าทนทุกขเวทนาและค่ารักษาพยาบาล ในช่วงแรกที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 500,000 บาท ค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลหลังจากออกจากโรงพยาบาลเดือนละ 55,000 บาท ถึงเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นเงิน 350,000 บาท ค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเดือนละ 55,000 บาท อีก 20 เดือน เป็นเงิน 1,100,000 บาท ค่าเสียความสามารถประกอบการงาน 6,300,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดา 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 8,550,000 บาท แต่ขอเรียกเพียง 7,150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เรียก บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทพัทลุงทักษิณขนส่ง จำกัด นางวาสนา ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันที่จำเลยที่ 2 ขับ และเป็นตัวการของจำเลยที่ 2 กับนางชินณัฎฐา ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้เรียกจำเลยร่วมดังกล่าวว่าจำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยลำดับ
จำเลยร่วมทั้งสี่ให้การขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องขอถอนคำร้องในส่วนจำเลยร่วมที่ 1 เนื่องจากจำเลยร่วมที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ร้องตามสัญญาประกันภัยแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และปรับ 14,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขและเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่ผู้ร้อง 3,108,840 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 จำเลยร่วมที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าเป็นจำเลยร่วม และยกคำพิพากษาในส่วนแพ่งที่เกี่ยวข้องกับจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีในส่วนอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส คดีถึงที่สุดไปแล้ว สำหรับคดีในส่วนแพ่งผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาท จากจำเลยที่ 2 จำนวน 50,000 บาท จากจำเลยร่วมที่ 1 นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลอีก 450,000 บาท จากบริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด ผู้รับประกันภัยภาคบังคับรถกระบะของจำเลยที่ 2 จำนวน 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 750,000 บาท ผู้ร้องขอถอนคำร้องในส่วนจำเลยร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต และคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีส่วนแพ่งตามคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีส่วนแพ่งตามคำร้องของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อาจจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในส่วนแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดคดีนี้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดในส่วนแพ่งได้ ผู้ร้องชอบที่จะนำคดีไปฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคดีแพ่งใหม่ต่างหากจากคดีนี้ ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลต้องกล่าวหรือแสดงในคำพิพากษาว่าไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่ดังที่ผู้ร้องฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีส่วนแพ่งตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาประการอื่นของผู้ร้องเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องน้อยกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถกระบะกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ผู้ร้องนั่งโดยสารมาด้วยต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิด เมื่อผู้ร้องมิได้มีส่วนทำความผิดด้วยและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อผู้ร้อง ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วยกันเอง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปว่า ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดสูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับน่าจะไม่เกิน 1,300,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ร้อง 3,108,840 บาท นั้นสูงเกินไป เห็นว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส กระดูกสันหลังระดับคอข้อที่ 5 หัก ต้องผ่าตัดดามกระดูกด้วยโลหะบริเวณคอ มีผลต่อระบบประสาทบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้แขนขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาต และกระดูกต้นขาขวาหัก ต้องผ่าตัดใส่โลหะดามกระดูก ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ทั้งผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องไม่สามารถขยับขาได้ต้องนั่งรถเข็น ปัจจุบันเพียงยกแขนขวาได้ แต่ไม่สุด ส่วนแขนซ้ายเพียงขยับได้ แต่ยกไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัดและไปโรงพยาบาลทุกวัน นอกจากนี้ยังนำสืบแสดงรายการรักษาตามใบรับรองแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการรักษาตามใบสั่งยาและใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งหลักฐานที่บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) รับรองว่า ผู้ร้องเป็นพนักงานของบริษัทในตำแหน่งหัวหน้างานโครงสร้างและสถาปัตย์ 4 เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ในอัตราจ้างเดือนละ 24,510 บาท จริง แม้ค่าเสียหายบางรายการผู้ร้องไม่มีหลักฐานมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาโดยละเอียดแล้วและเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 500,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 1,000,000 บาท ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน 2,058,840 บาท ให้ผู้ร้อง รวมเป็นเงิน 3,858,840 บาท และคิดหักค่าเสียหายที่ผู้ร้องได้รับมาบางส่วนแล้วเป็นเงิน 750,000 บาท ออก คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดแก่ผู้ร้อง 3,108,840 บาท นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว หาใช่เป็นจำนวนที่สูงเกินความเป็นจริงดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดค่าเสียหายของผู้ร้องจำนวนดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share