แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์โจทก์แล้วสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย โจทก์ไม่ได้นำส่งเองโดยเพียงแต่เสียค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการในการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานเดินหมายเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เมื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้โจทก์ก็มิได้แถลงต่อศาลภายในกำหนดจนเจ้าหน้าที่ทำรายงานเสนอศาลเมื่อเวลาล่วงเลยไปถึง 24 วันแล้ว ถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่แถลงให้ดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายในเวลาที่ศาลกำหนดโดยโจทก์ทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ กำหนดเวลาที่ศาลให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ได้นั้น ให้นับตั้งแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้หาใช่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ และเมื่อศาลกำหนดให้โจทก์เป็นผู้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องคอยติดตามทราบผลการส่งหมายจากเจ้าหน้าที่ศาลเอง เจ้าหน้าที่ศาลหามีหน้าที่ต้องแจ้งผลการส่งหมายให้โจทก์ทราบก่อนไม่
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารอฟังโจทก์ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจทก์ไม่มาติดต่อขอทราบผลการส่งหมายและไม่แถลงให้ศาลทราบว่าประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตามที่สั่งไว้แล้วโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของโจทก์ที่เพิกเฉยไม่แถลงต่อศาลเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่ง แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเสียเองจึงไม่ชอบ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 12พฤษภาคม 2529 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นให้ถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจทก์วางเงินค่าพาหนะ ค่าป่วยการ 70 บาท เจ้าหน้าที่จึงนำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2529 แต่ส่งให้จำเลยไม่ได้เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ได้สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย แต่โจทก์กระทำเพียงเสียค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการในการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานเดินหมายเท่านั้นไม่ได้กระทำตามคำสั่งศาล คือโจทก์ไม่ได้นำส่งเอง ถ้าโจทก์นำส่งเองโจทก์จะทราบผลทันทีที่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ จึงเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล การที่โจทก์มิได้แถลงภายในกำหนด คงปล่อยทิ้งไว้จนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานให้ศาลทราบว่า โจทก์ไม่มาติดต่อขอทราบผลการส่งหมาย และไม่แถลงให้ศาลทราบว่าประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่เมื่อวันที่ 13มิถุนายน 2529 อันเป็นเวลาล่วงเลยถึง 24 วัน นับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้เช่นนี้ กรณีถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่แถลงให้ดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยโจทก์ได้ทราบคำสั่งนั้นโดยชอบแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าครบกำหนด7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นคือวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 โจทก์ได้มาขอตรวจดูผลการส่งหมาย ปรากฏว่ายังไม่ได้มีการส่งหมาย โจทก์จึงแถลงต่อศาลไม่ได้นั้น เห็นว่ากำหนดวันตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ หาใช่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ และถ้าหากโจทก์สนใจมาสอบถามผลการส่งสำเนาอุทธรณ์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 จริง โจทก์ก็น่าจะทราบจากเจ้าหน้าที่ศาลถึงกำหนดการไปส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยในวันรุ่งขึ้นคือวันที่20 พฤษภาคม 2529 ซึ่งโจทก์สามารถมาสอบถามผลการส่งนั้นได้จากเจ้าหน้าที่ศาลหลังจากวันดังกล่าว และสามารถแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบได้ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังไม่ทราบผลการส่งหมายควรที่เจ้าหน้าที่ศาลจะแจ้งผลการส่งหมายให้โจทก์ทราบก่อนนั้นเห็นว่าตามคำสั่งของศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์เป็นผู้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องคอยติดตามขอทราบผลการส่งหมายนั้นจากเจ้าหน้าที่ศาลเองที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์และพิพากษาจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน