แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 4 เป็นภรรยาเจ้ามรดกมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีบุตรด้วยกัน4 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลย เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อปี 2503 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ที่ 4และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วยเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยไม่มีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 การที่ จำเลยนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส.3 ในนามของจำเลยแต่ผู้เดียว โดยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง โจทก์ทั้งสี่ จึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อยู่ต่อไป เมื่อโจทก์ทั้งสี่ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754บัญญัติไว้ ทั้งนี้เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 คดีจึง ไม่ขาดอายุความมรดก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 277 และ 278 เนื้อที่รวม 16 ไร่ 75 ตารางวา เป็นที่ดินในกองมรดกของนายคล้องซึ่งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันให้จำเลยคืนเงินค่าขายที่ดินให้โจทก์ทั้งสี่คนละ 350,000 บาทรวมเป็นเงิน 1,400,000 บาท ให้จำเลยยื่นเรื่องของจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ลงในทะเบียน น.ส.3 เลขที่ 278 และ 393ร่วมกับจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,400,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้กลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 4เป็นภรรยานายคล้องมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลย นายคล้องถึงแก่กรรมเมื่อปี 2503โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกของนายคล้องซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทมีที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 277 และ 278 หมู่ที่ 1ตำบลหัวเตย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากนายคล้องถึงแก่กรรมโจทก์ที่ 4 และจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาโดยยังมิได้มีการแบ่งมรดก จนกระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2518 จำเลยได้ขอออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยเพียงผู้เดียวต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทบางส่วนไป ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้คดียุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยโจทก์ทั้งสี่และจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า การที่โจทก์ที่ 4 และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาหลังจากนายคล้องถึงแก่กรรมเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสี่ว่า คดีขาดอายุความมรดกหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายคล้องโดยโจทก์ที่ 4 และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นหลังจากนายคล้องถึงแก่กรรม การที่จะวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความมรดกหรือไม่ จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของแต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ก่อนและเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลยคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยไม่มีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้น การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส.3 ในนามของจำเลยแต่ผู้เดียวโดยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่ดังวินิจฉัยมาแล้ว เช่นนี้จึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อยู่ต่อไปเมื่อโจทก์ทั้งสี่ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 บัญญัติไว้ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 คดีจึงไม่ขาดอายุความมรดก
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น