แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ผู้ร้องวางเงินค่าธรรมเนียมการนำหมาย แต่มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาล ดังนี้ การที่ผู้ร้องได้วางเงินค่านำหมายหาทำให้ผู้ร้องหมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่จึงต้องถือว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ แต่แม้จะถือว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ก็ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่าศาลต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เพียงแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรและยุติธรรม เมื่อคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์แล้วแต่เกิดขัดข้องทางฝ่ายเจ้าพนักงานศาลเองที่ไม่ส่งเงินไปให้เจ้าพนักงานเดินหมายเช่นนี้กรณีจึงไม่สมควรที่จะจำหน่ายคดีของผู้ร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพบว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าหุ้นที่ค้างชำระจากผู้ร้องมูลค่าหุ้นละ 70 บาท จำนวน 35,998 หุ้น จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องนำเงินค่าหุ้นที่ค้างจำนวน 2,519,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอ้างว่าได้ชำระค่าหุ้นแก่ลูกหนี้ครบถ้วนแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2538 ยืนยันจำนวนหนี้และให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นเงินจำนวน 2,519,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กันยายน2537 (วันผิดนัด) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในกำหนด 14วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องชำระค่าหุ้นเต็มตามมูลค่าหุ้นแก่ลูกหนี้ครบถ้วนแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยอีก ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีรายชื่อลูกหนี้ของบริษัทมัลติเพล็กซ์ อาร์.เอ็น.ซี(ประเทศไทย) จำกัด ลูกหนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีผู้ร้องชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า “รับอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด” ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2541 นางสาวยุพา อ่ำสอาด เจ้าหน้าที่ธุรการ 2รายงานศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนดระยะเวลาในการนำหมายแล้ว ผู้ร้องหรือผู้แทนผู้ร้องไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็น กรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 7 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ทั้งกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็เป็นเวลาที่สมควรแล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือได้ว่าผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ซึ่งศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีจากสารบบความได้ตามมาตรา 132(1) ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมาในฎีกาว่าผู้ร้องได้เสียค่านำหมายล่วงหน้าให้แก่นางสาวยุพา อ่ำสอาด เจ้าพนักงานศาลไว้แล้วในวันยื่นอุทธรณ์การที่นางสาวยุพารายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2541 ว่าผู้ร้องไม่มาเสียค่าธรรมเนียมการนำหมายจึงไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้นางสาวยุพาชี้แจงตามคำร้องของผู้ร้องได้ความตามคำชี้แจงของนางสาวยุพาว่าผู้ร้องได้วางเงินค่าธรรมเนียมการนำหมายไว้แล้วจริง แต่มีการผิดพลาดของหมายเลขคดีเนื่องจากมีประชาชนมาติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก ดังนี้ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความดังกล่าวโดยผู้ร้องได้วางเงินค่านำหมายแล้วก็ตามก็หาทำให้ผู้ร้องหมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ อย่างไรก็ตามแม้จะถือว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ แต่มาตรา 132 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ให้อำนาจศาลที่จะจำหน่ายคดีจากสารบบความนั้นไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีเสมอไปเพียงแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรและยุติธรรม สำหรับกรณีของผู้ร้องนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาว่า ผู้ร้องได้วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์แล้วแต่เกิดเหตุขัดข้องทางฝ่ายเจ้าพนักงานศาลเองที่ไม่ส่งเงินไปให้เจ้าพนักงานเดินหมายเช่นนี้กรณีจึงไม่สมควรที่จะจำหน่ายคดีของผู้ร้อง คำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ผู้ร้องจัดการนำส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดและดำเนินการต่อไป