คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6982/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์ยืนยันว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์มาแต่เดิมขอให้จำเลยจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้เป็นของโจทก์ตามสัญญา มิได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจำเลย คดีจึงมีประเด็นแต่เพียงว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใดเท่านั้น ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะการครอบครองปรปักษ์จะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลย แม้โจทก์จะครอบครองมากว่า 10 ปี ศาลก็จะพิพากษาให้เป็นของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
โจทก์และจำเลยมีข้อพิพาทเกิดขึ้นต่อกัน โดยจำเลยขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดที่ดินรวมเอาที่พิพาทเข้าด้วยเพื่อแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินระหว่างเจ้าของรวม แต่โจทก์ไม่ยอมโดยได้ระวังชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์รวมไปถึงที่พิพาทตามที่ครอบครองมาด้วย จำเลยจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงมีข้อความว่า ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกจากโฉนดเป็นแปลงที่ 7 (ซึ่งหมายถึงที่พิพาท) แบ่งให้โจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยดำเนินการรังวัดไปได้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 เจ้าของรวมเพียง 2 คน ทำบันทึกอันเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความว่าให้แบ่งที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินของเจ้าของรวม เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5ผู้เป็นเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ตกลงยินยอมในการให้ที่พิพาทแก่โจทก์ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 และในขณะที่ทำบันทึกที่พิพาทยังมิได้แบ่งแยกเป็นส่วนสัดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 โจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งห้าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงนั้น

Share