คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทกภัยตัดถนนในเขตเทศบาลจำเลยขาดก่อนที่ผู้ตายจะขับ รถจักรยานยนต์มาตกลงไปในช่วงที่ถนนขาดถึงแก่ความตายเป็นเวลา หลายเดือนแล้ว จำเลยมีโอกาสติดป้ายแสดงทางเบี่ยง จัดหา สิ่งกีดขวางใหญ่ ๆ มองได้ชัดในเวลากลางคืนมากีดขวางถนนไว้และ ต้องจัดการติดตั้งสัญญาณไฟเพื่อแสดงให้เห็นว่าถนนขาดเป็นการเตือนว่าจะเป็นอันตรายผู้สัญจรผ่านไปมาจะต้องระมัดระวัง แต่จำเลยไม่ทำ เป็นการละเว้นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ และกรณีไม่ได้เกิดเพราะเหตุสุดวิสัย ค่าปลงศพผู้ตายเป็นค่าสินไหมทดแทนซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ทำละเมิดต้องจ่าย โจทก์เป็นทายาทของผู้ตายมีหน้าที่จัดการศพผู้ตายไม่ว่าจะทำเองหรือมีผู้อื่นทำแทน หรือโจทก์จะได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพด้วยตนเองหรือไม่ จำเลยก็ต้องรับผิดจ่ายค่าปลงศพแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของนายวิชัย พิจารณ์และเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเกิดกับนายวิชัย จำเลยเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2532 เวลา 23.30 นาฬิกาถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2532 เวลา 1.24 นาฬิกา นายวิชัยขับรถจักรยานยนต์ให้โจทก์ที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปโรงพยาบาลบ้านนาสารเพื่อคลอดบุตร แล้วนายวิชัยขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านมาตามถนนห้วยมุดจนถึงที่เกิดเหตุถนนขาดเนื่องจากถูกกระแสน้ำพัดเป็นเหตุให้รถคันที่นายวิชัยขับตกลงไปกระแทกกับท่อระบายน้ำซีเมนต์ที่จำเลยนำมาวางไว้และนายวิชัยได้รับอันตรายคอหักถึงแก่ความตาย ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่ซ่อมแซมถนนช่วงที่ขาดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยในเวลาอันสมควรไม่จัดให้มีแสงสว่างไฟฟ้า ไม่จัดให้มีเครื่องหมายจราจรไม่จัดให้มีป้ายแสดงทางเบี่ยง ไม่จัดให้มีสิ่งกีดกั้นเพื่อป้องกันเตือนภัยแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ การกระทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือโจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากนายวิชัยสามีซึ่งมีอาชีพรับราชการ และขณะนายวิชัยตายมีอายุ 27 ปี โจทก์ที่ 1 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ3,000 บาท รวม 40 ปี เป็นเงิน 1,440,000 บาท ค่าขาดแรงงานในขณะที่นายวิชัยยังมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือโจทก์ที่ 1 ทำงานบ้าน โจทก์ที่ 1 ขอเรียกค่าขาดแรงงานเดือนละ 600 บาทเป็นเวลา 40 ปี เป็นเงิน 288,000 บาท ค่าปลงศพนายวิชัยตามประเพณีเป็นเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนสำหรับโจทก์ที่ 1 จำนวน 1,748,000 บาท โจทก์ที่ 2 ขาดไร้อุปการะจากนายวิชัยบิดาซึ่งขณะนายวิชัยตาย โจทก์ที่ 2 มีอายุ 1 วันโจทก์ที่ 2 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 20 ปี โดยระยะ5 ปีแรก ขอเรียกเดือนละ 600 บาท เป็นเงิน 36,000 บาทระยะ 15 ปีหลัง ขอเรียกเดือนละ 2,000 บาท เป็นเงิน 360,000 บาทรวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนสำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 396,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยของเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,764,387.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 1,748,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เสร็จและให้จำเลยชำระเงินจำนวน 399,712.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 396,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เสร็จ
จำเลยให้การว่า การที่กระแสน้ำทำให้ถนนที่เกิดเหตุขาดเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปลงศพนายวิชัยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน533,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 120,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 533,000 บาทและต้นเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินแก่โจทก์แล้วเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 485,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2532ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งฟังเป็นยุติว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตเทศบาลจำเลย เป็นเหตุให้ถนนห้วยมุดซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยถูกกระแสน้ำพัดขาดยาวประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ลึกประมาณ 1.50 เมตร หลังจากน้ำลดจำเลยได้ขอให้บริษัททรัพยากรไทยพัฒนา จำกัด ทำทางเบี่ยงบริเวณที่ถนนขาดเพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรผ่านไปมาได้ แต่ถนนที่ขาดยังไม่ได้ซ่อมจนถึงวันเกิดเหตุ นายวิชัยผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาและตกลงไปตรงถนนช่วงที่ขาดซึ่งมีท่อระบายน้ำซีเมนต์ที่จำเลยนำมาวางไว้และยังไม่ได้กลบเป็นเหตุให้ผู้ตายคอหักถึงแก่ความตาย คดีนี้ในส่วนความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้จำเลยฎีการวมกับความรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ว่าจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อ ค่าเสียหายสูงเกินความจริง ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ที่ 2 จำนวนทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 คดีคงมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับความรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่ โจทก์มีนายสมัยพิจารณ์ บิดาผู้ตายและนายประจวบ แย้มแก้ว เป็นพยานโดยนายประจวบเบิกความว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 24 นาฬิกามีคนมาบอกนายประจวบว่าผู้ตายขับรถตกถนนขอให้นายประจวบไปช่วยเหลือนายประจวบจึงไปบอกนายสมัยแล้วขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุถนนช่วงที่ขาดมีสภาพมืดเป็นหลุม นายประจวบฉายไฟฉายดูถนนช่วงที่ขาดเห็นรถจักรยานยนต์และผู้ตายนอนอยู่ข้างท่อระบายน้ำซีเมนต์ได้เข้าไปประคองผู้ตาย พอดีขณะนั้นนายสมัยมาถึงจึงได้พากันนำผู้ตายไปโรงพยาบาลบ้านนาสารและนายสมัยเบิกความว่า เมื่อทราบเหตุจากนายประจวบแล้วนายสมัยจัดหารถยนต์กระบะได้แล้วไปยังที่เกิดเหตุพบนายประจวบกำลังอุ้มผู้ตายจึงได้ช่วยกันนำผู้ตายขึ้นรถยนต์และพาไปโรงพยาบาลบ้านนาสาร บริเวณถนนช่วงที่ขาดมีทางเบี่ยงไม่มีเครื่องหมายบอกทางเบี่ยง ไม่มีเครื่องหมายปิดกั้นถนนและไม่มีแสงไฟส่องให้เห็น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตรงกัน ภาพถ่ายหมาย จ.12 ก็ไม่มีเครื่องหมายแสดงทางเบี่ยงมีท่อนไม้ขวางกั้นไว้แต่ก็เป็นท่อนไม้เล็ก ๆ มองในเวลากลางคืนน่าจะไม่ชัดเจน นอกจากจะเห็นในระยะใกล้ ๆ และไม่มีเครื่องหมายจราจรหรือดวงไฟเพื่อให้แสงสว่างบอกสัญญาณว่าถนนขาดหรือมีอันตรายนายนุกูล เวียงวีระ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจำเลยเบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่า มีแสงสว่างจากไฟฟ้าริมรั้วบริษัททรัพยากรไทยพัฒนา จำกัด ซึ่งข้างถนนที่เกิดเหตุเท่านั้นแต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายพรชัย เกตุเล็ก ผู้จัดการบริษัททรัพยากรไทยพัฒนา จำกัด ว่า ริมรั้วบริษัทด้านข้างที่ติดถนนห้วยมุดซึ่งเป็นที่เกิดเหตุมีเสาไฟฟ้าติดหลอดไฟแสงจันทร์5 ต้น เว้นระยะห่างกันประมาณต้นละ 20 เมตร เสาไฟต้นที่ใกล้ถนนตรงที่เกิดเหตุที่สุดห่างกันประมาณ 10 เมตร แสดงว่าแสงสว่างไม่อาจส่องไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุจนสามารถมองเห็นที่เกิดเหตุได้ชัด และไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานทั้งสองว่า จำเลยได้ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนหรือให้แสงสว่างบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาตกลงไปในถนนช่วงที่ขาดที่จำเลยอ้างว่ามีป้ายบอกทางเบี่ยงนั้น หากมีจริงจำเลยก็น่าจะถ่ายภาพมาแสดงต่อศาล ดังนั้น ตามพฤติการณ์ต่าง ๆดังกล่าวข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีป้ายแสดงทางเบี่ยง มีท่อนไม้ขวางกั้นไว้ก็เป็นท่อนไม้เล็ก ๆ มองเห็นในเวลากลางคืนไม่ชัดและไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟเตือนหรือให้แสงสว่างบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นตรงบริเวณถนนช่วงที่ขาด การละเว้นการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย เมื่อผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ตกลงไปในถนนช่วงที่ขาดจนคอหักถึงแก่ความตายจึงเกิดการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตาย ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ถนนถูกตัดขาดเป็นผลโดยตรงจากอุทกภัยอันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าอุทกภัยตัดถนนขาดเกิดมาก่อนเหตุคดีนี้เป็นเวลาหลายเดือนแล้วจำเลยมีโอกาสติดป้ายแสดงทางเบี่ยง จัดหาสิ่งกีดขวางใหญ่ ๆมองได้ชัดในเวลากลางคืนมากีดขวางถนนไว้และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องจัดการติดตั้งสัญญาณไฟเพื่อแสดงให้เห็นว่าถนนขาดเป็นการเตือนว่าจะเป็นอันตรายผู้สัญจรผ่านไปมาจะต้องระมัดระวัง แต่จำเลยก็หาได้ทำไม่ ทั้งปรากฏว่าหลังเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยได้ซ่อมถนนช่วงที่ขาดเสร็จสิ้นเพียงวันเดียว ซึ่งจำเลยควรทำก่อนแล้วแต่ไม่ทำกรณีที่จำเลยไม่ทำจึงไม่ได้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด
ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปลงศพของผู้ตาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 443 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้นค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย” เห็นได้ว่า ค่าปลงศพผู้ตายเป็นค่าสินไหมทดแทนซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ทำละเมิดต้องจ่าย โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทของผู้ตายมีหน้าที่จัดการศพผู้ตายไม่ว่าจะทำเอง หรือมีผู้อื่นทำแทน หรือโจทก์ทั้งสองจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าปลงศพผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share