คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6971/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อยังมีการใช้เรือสัญจรไปมาในคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นคลองสาธารณะอยู่คลองบางกอกน้อย จึงเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1349ดังนั้นการที่ที่ดินของโจทก์อยู่ติดคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นทางสาธารณะเช่นนี้จึงไม่เป็นที่ดินที่มีดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1349วรรคหนึ่งโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินของจำเลยไม่เป็นทางจำเป็นของที่ดินของโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโจทก์ได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความแล้วนั้นปรากฎว่าในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินของจำเลยเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่และไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้จึงไม่มีประเด็นว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2234ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1125 ของจำเลย ที่ดินของจำเลยล้อมรอบที่ดินของโจทก์โจทก์และบริวารได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะตลอดมาเป็นเวลา 20 ปีเศษแล้วต่อมาจำเลยปิดทางเดินทุกทางที่โจทก์และบริวารเคยใช้ออกสู่ทางสาธารณะ ทั้งยังปิดทางที่เคยอนุญาตให้โจทก์และบริวารใช้เป็นทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร โดยสร้างเหล็กแหลมดัดปิดทางเดิน โจทก์แจ้งให้จำเลยเปิดทางเดินเท้ากว้าง 1 เมตรเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาทที่กั้นด้วยอิฐและเห็นตามภาพถ่ายท้ายฟ้อง มีความกว้าง1 เมตร หรือรื้อกำแพงทางเดินเก่าตามภาพถ่ายที่มีบันไดพาดอยู่มีความกว้าง 1 เมตร และใช้ถนนหรือทางเดินจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ถนนหรือทางสาธารณะได้กับให้จำเลยรื้อสิ่งปิดกั้นออก
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้อยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ต่อเนื่องติดต่อกันถึงปัจจุบัน ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกจดคลองบางกอกน้อย ที่ดินของจำเลยมิได้อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ ตั้งแต่จำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยมา ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ว่างเปล่าไม่เคยมีทางออกหรือถนนในที่ดินนั้นโจทก์และบริวารใช้ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะโดยผ่านทางคลองบางกอกน้อยไม่เคยเข้ามาใช้ทางในที่ดินของจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้เห็นว่าโจทก์เริ่มใช้ทางบนที่ดินของจำเลยตั้งแต่ปีใด ขณะเริ่มใช้ใครเป็นเจ้าของที่ดิน ทางที่ใช้ผ่านเข้าออกมีสภาพอย่างใด มีระยะทางเท่าใด จำเลยปิดกั้นเมื่อใด ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี หลังจากที่จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินและล้อมรั้วแนวเขตที่ดินของจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2234 เลขที่ดิน471 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เนื้อที่60 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์ติดกับคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นคลองสาธารณะโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 614 แขวงบางบำหรุเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินดังกล่าวมาประมาณ 20 ปีแล้ว จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1125เลขที่ดิน 357 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นที่ดินหลายแปลงและได้รวมโฉนดเป็นที่ดินแปลงเดียวตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5จำเลยประกอบกิจการหมู่บ้านจัดสรรและได้ก่อสร้างหมู่บ้านขึ้นบนที่ดินดังกล่าวหลังจากจำเลยก่อสร้างหมู่บ้านแล้วเสร็จ จำเลยได้สร้างกำแพงและเหล็กดัดขึ้นปิดกั้นทางพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นของที่ดินโจทก์หรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าปัจจุบันยังมีการใช้เรือสัญจรไปมาในคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นคลองสาธารณะอยู่คลองบางกอกน้อยจึงเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 เมื่อที่ดินของโจทก์อยู่ติดคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นทางสาธารณะ เช่นนี้ จึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินของจำเลยไม่เป็นทางจำเป็นของที่ดินของโจทก์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโจทก์ได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความแล้วนั้น ปรากฎว่าในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินของจำเลยเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ และไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share