คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระภาษีอากรใด ๆค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อทุกชนิด และถ้าผู้เช่าซื้อดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่าซื้อเป็นเหตุให้ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นผู้เช่าซื้อยอมชำระภาษีนั้นโดยตรงฝ่ายเดียว แต่ยังมิได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าภาษีในกรณีทำการดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่าซื้อมาก่อนทำสัญญา ดังนั้นจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องชำระภาษีการค้าและดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2529 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เบนซ์แวน รุ่น 300 ทีดี หมายเลขทะเบียน4ร-3434 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ในราคา 654,000 บาท จำเลยดังกล่าวยินยอมออกค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากรใด ๆ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่ผู้เดียว ในกรณีโจทก์ได้ออกค่าใช้จ่ายอย่างใดไปไม่ว่าจะจ่ายในนามของโจทก์หรือจ่ายไปแทนในนามของจำเลยนั้นจำเลยยอมชดใช้เงินที่ได้ออกทดรองไปให้โจทก์ หากไม่ชำระยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายอนุญาตให้โจทก์เรียกเก็บได้ จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2530 กรมสรรพากร ได้มีประกาศเรียกเก็บค่าภาษีการค้ากรณีดัดแปลงรถยนต์โดยเรียกเก็บภาษีตามมูลค่าประเมินของรถยนต์ที่ดัดแปลงแล้ว สำหรับรถยนต์คันเช่าซื้อต้องเสียภาษีการค้ากรณีดัดแปลงในอัตราร้อยละ 40 จากราคาประเมินคิดเป็นค่าภาษีจำนวน 319,440 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดังกล่าวชำระค่าภาษีจำนวนนั้นแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงออกเงินทดรองค่าภาษีไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ชำระงวดแรกในวันยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีวันที่ 29 ธันวาคม 2530 จำนวน 50,000 บาทส่วนที่เหลือ269,440 บาท ชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท ยกเว้นเดือนสุดท้ายชำระ 9,440 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2531 เป็นเวลา55 เดือนเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีงวดแรกแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินทดรองค่าภาษีที่โจทก์ออกทดรองไป แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยและโจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปจนถึงวันฟ้องครบ 5 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75,000 บาท เมื่อวันที่22 มีนาคม 2531 โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินทดรองที่โจทก์จ่ายไป โดยให้ผ่อนชำระได้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าภาษีจำนวน 244,440 บาทแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยที่ 1ต้องชำระเงินที่โจทก์ออกทดรองไปจนถึงวันฟ้องรวม 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย รวมเป็นค่าดอกเบี้ย 5,264 บาท ค่าภาษีอีกจำนวน 244,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2531 จนถึงวันฟ้อง เป็นค่าดอกเบี้ยทั้งสิ้น 3,097 บาท เมื่อรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 327,801 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 327,801 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 319,440 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อตามที่โจทก์อ้าง ในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจนถึงปัจจุบันรถยนต์คันดังกล่าวไม่เคยมีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนสภาพประการใดภาระภาษีการค้าที่เกิดขึ้นจากการดัดแปลงรถยนต์จึงไม่มี ประกาศของกรมสรรพากรที่โจทก์อ้างและประมวลรัษฎากรไม่สามารถนำมาปรับกับกรณีนี้ได้ ภาระภาษีการค้าอันเนื่องมาจากการดัดแปลงรถยนต์จำนวน 319,440 บาท ที่โจทก์อ้างตามประมวลรัษฎากร เกิดขึ้นตั้งแต่มีการดัดแปลงรถยนต์แล้ว ผู้มีหน้าที่ต้องเสียก็คือเจ้าของที่ได้รับมูลค่าเพิ่ม ในกรณีนี้คือโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของและได้รับมูลค่าเพิ่มในขณะที่มีการดัดแปลงรถยนต์แล้วภาระภาษีการค้าดังกล่าวหาได้เกิดขึ้นเมื่อกรมสรรพากรประกาศเรียกเก็บไม่การประกาศของกรมสรรพากรเป็นเพียงการเร่งรัดให้ผู้ที่ละเลยการเสียภาษีให้ไปเสียภาษีเท่านั้น และไม่เคยปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือตกลงว่าจะเป็นผู้ออกภาษีการค้าในกรณีนี้แทนโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างหรือเกี่ยวข้องกับการดัดแปลงรถยนต์คันดังกล่าวแต่ประการใด ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่ทราบมาก่อนว่า รถยนต์คันดังกล่าวมีการดัดแปลงและต้องถูกเรียกเก็บภาษีการค้าจากกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ขอฟ้องแย้งว่า หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อกันแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์เบนซ์แวน 5 ประตู ในสภาพเรียบร้อยและได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ครบถ้วนขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทะเบียนรถยนต์ตามฟ้องจากที่ระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของ เป็นจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของแทน หากโจทก์ไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วแต่หาได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อทุกประการไม่ เนื่องจากตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 วรรคแรก ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียวคือค่าภาษีอากรใด ๆและในวรรคสองระบุว่า ถ้าเจ้าของได้ออกค่าใช้จ่ายอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวข้างต้นไป ไม่ว่าจะจ่ายในนามของเจ้าของเอง หรือจ่ายในนามของผู้เช่าซื้อแทนผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะจ่ายคืนค่าใช้จ่ายที่ได้ออกทดรองดังกล่าวข้างต้นแก่เจ้าของโดยพลันเมื่อทวงถามมิฉะนั้นผู้เช่าซื้อจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนใด ๆ ดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่กฎหมายอนุญาตให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เรียกเก็บได้ ซึ่งค่าภาษีการค้ากรณีดัดแปลงรถยนต์ตามฟ้องก็เป็นภาษี ดังนั้นค่าภาษีอากรใด ๆ ดังกล่าวจึงมีความหมายถึงภาษีการค้ากรณีดัดแปลงนี้ด้วย แต่อีกทั้งโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีการค้าซึ่งโจทก์ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว ทั้งก่อนและหลังชำระค่าภาษีการค้าถึง 4 ครั้งและยังให้โอกาสผ่อนชำระเป็นงวดซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ แต่จำเลยที่ 1 ก็เพิกเฉย อันถือได้ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อครบถ้วน โจทก์จึงไม่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์เป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 80,264บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ดำเนินการเปลี่ยนทะเบียนรถยนต์คันหมายเลข 8 ฉ-7746 (เดิม 4 ร-3434) ให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 5 ตกลงกันไว้ว่า “ผู้เช่าซื้อจะต้องออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพียงผู้เดียว คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้การเก็บ การบำรุงรักษา ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าเช่าที่เก็บ ค่ายางค่าไฟฟ้า ค่าธรรมเนียมทุกชนิด ค่าปรับ ค่าซ่อมแซมความชำรุดค่าภาษีอากรใด ๆ รวมทั้งอากรแสตมป์ปิดตราสารนี้หรือตราสารอื่น ๆเช่น ใบรับเงิน เป็นต้นแม้ว่าตามประมวลรัษฎากรผู้ให้เช่าซื้อจะต้องเป็นผู้ออกก็ตาม” และข้อตกลงพิเศษเอกสารหมาย จ.17 ข้อ 2.2 ตกลงกันไว้ว่า “ค่าภาษีรถยนต์ประจำปีและภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อทุกชนิด” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่าย เห็นว่า ตามข้อตกลงดังกล่าวนั้นได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าภาษีอากรใด ๆ ค่าภาษีรถยนต์ประจำปีและภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อทุกชนิด และยังได้ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 8 อีกด้วยซึ่งมีใจความว่า ถ้าผู้เช่าซื้อดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่าซื้อเป็นเหตุให้ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ผู้เช่าซื้อยอมชำระภาษีนั้นโดยตรงฝ่ายเดียวแต่ไม่มีการระบุถึงให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าภาษีในกรณีทำการดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่าซื้อมาก่อนที่จะทำสัญญาเช่าซื้อต่อกันไว้แต่อย่างใดเลย เมื่อพิจารณาถึงตามสำนวนคดีนี้ก็ปรากฏว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ต่างไม่ทราบมาก่อนว่ากรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีการค้าเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ถูกดัดแปลงตามพฤติการณ์ดังวินิจฉัยน่าเชื่อว่าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าภาษีตามข้อตกลงดังกล่าวนั้น ไม่มีเจตนาให้รวมถึงภาษีการค้าเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ถูกดัดแปลงมาก่อนแล้วด้วย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรายนี้จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีการค้าและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share