คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สุขาภิบาลโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีนายอำเภอท้องที่เป็นประธานกรรมการมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของโจทก์ตาม พ.ร.บ. สุขาภิบาลประธานกรรมการโจทก์จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ตามกฎหมาย ดังนี้ อายุความละเมิดตามป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรกเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึง ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ. 2495 มีนายวีระ เสรีรัตน์ นายอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีและประธานกรรมการสุขาภิบาลเป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบ เมื่อวันที่2 พฤศจิกายน 2524 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2524 จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนของทางราชการ และจำเลยที่ 2 ได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์จำนวน210,906.89 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ทราบเรื่องการกระทำของจำเลยทั้งสอง และทราบว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชอบใช้เงินคืนโจทก์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 โจทก์แจ้งให้ทราบแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินจำนวน 210,906.89 บาท คืนโจทก์ และดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายโจทก์ทราบถึงเหตุละเมิดและตัวบุคคลที่จะต้องรับผิดก่อนวันที่ 3มีนาคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2526 ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้เงินจำนวน 210,906.89 บาท คืนโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวกฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและยักยอกเงินของโจทก์ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2525 และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการหาตัวผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินของโจทก์ที่ขาดหายไปนี้ คณะกรรมการได้ทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีลงลายมือชื่อรับทราบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 และได้มีหนังสือลงวันที่ 11 สิงหาคม 2525 แจ้งให้ประธานโจทก์ทราบ เห็นว่าคดีนี้โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีนายอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ที่โจทก์ตั้งอยู่เป็นประธานกรรมการโจทก์โดยตำแหน่ง มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ประธานกรรมการโจทก์จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ตามกฎหมาย ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก กำหนดให้ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิฉะนั้นคดีขาดอายุความนั้นในกรณีนี้ต้องถือว่าผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นคือประธานกรรมการโจทก์รู้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เมื่อไม่ปรากฏว่าประธานกรรมการโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 11 สิงหาคม 2525 อันเป็นวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมีหนังสือแจ้งไปถึงประธานกรรมการโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินของโจทก์ไปด้วย นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 17 มีนาคม 2526 ยังไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเถียงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share