แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์สูญเสียอวัยวะหนังศีรษะใบหูข้างขวา และคิ้วทั้งสองข้าง โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ยังสูญเสียอวัยวะบริเวณดั้ง จมูกและโหนกแก้มทั้งสองข้างด้วย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยสูญเสียอวัยวะหนังศีรษะ ใบหูข้างขวา และคิ้วทั้งสองข้าง อันเป็นการสูญเสียอวัยวะตามประเภทที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ข้อ 1(16) ถือเป็นการสูญเสียอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในข้อ (1) ถึง (15)ซึ่งให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน 4 ปี 6 เดือน ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติ การจ่ายค่าทดแทนจึงต้องจ่ายให้เป็นรายเดือนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน มิใช่จ่ายค่าทดแทนจากการที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะในแต่ละส่วนของร่างกาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทยูไนเต็ดการฝ้าย จำกัด ในตำแหน่งหน้าที่ควบคุมเครื่องปั่นด้ายทำงานเดือนละ 26 วัน ได้รับค่าจ้างวันละ 81 บาท คิดเป็นค้าจ้างรายเดือน เดือนละ 2,106 บาท เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2532 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ขณะที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องปั่นด้ายพัดลมได้เป่าผมของโจทก์ที่ผูกมัดไว้หลุด และเข้าไปติดสายพานเครื่องปั่นด้ายเป็นเหตุให้สายพานเครื่องปั่นด้ายฉุดดึงเอาเส้นผมและหนังศีรษะของโจทก์บริเวณเหนือท้ายทอยหลุดออกมาจรดหนังศีรษะด้านหน้าและเลยมาจนถึงเนื้อบริเวณหน้าผาก เนื้อคิ้วทั้งสองข้างเนื้อที่หนังตาทั้งสองข้างหลุดออก หูข้างขวาขาด ดั้งจมูกยุบ และเนื้อบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างหลุด โจทก์ต้องพักรักษาตัวไม่ได้ไปทำงาน 4 เดือน 6 วัน โจทก์เสียอวัยวะของร่างกายคือ หนังศีรษะตั้งแต่เหนือท้ายทอยถึงหน้าผาก เนื้อหนังบริเวณหน้าผาก เนื้อคิ้วทั้งสองข้าง เนื้อหนังตามทั้งสองข้าง เนื้อที่โหนกแก้มทั้งสองข้างโจทก์ต้องพิการและเสียโฉมอย่างติดตัว โจทก์ได้เรียกร้องเอาเงินทดแทนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดปทุมธานีเป็นเงิน 200,000 บาท แต่สำนักงานแรงงานจังหวัดปทุมธานีพิจารณาให้โจทก์ได้รับเป็นเงินเพียง31,758.45 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยตามหนังสือฉบับที่มท.1111/9848 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2533 ให้จ่ายเงินทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 72,193.65 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เพราะเป็นการวินิจแัยให้จ่ายเงินทดแทนเป็นค่าทดแทนให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54(1) มีกำหนดระยะเวลาเพียง 3 เดือน 4 วันซึ่งความจริงต้องจ่ายค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถทำงานติดต่อกันเกินกว่า 3 วัน โดยคิดในอัตราร้อยละ 60 ของเงินเดือนเป็นเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 5,054.40 บาท ค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะของร่างกายคือหนังศีรษะและเส้นผม โดยคิดในอัตราร้อยละ 60 ของเงินเดือนเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 75,816 บาท ค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะของร่างกายคือใบหู โดยคิดในอัตราร้อยละ 60 ของเงินเดือน เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 75,816 บาท ค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะของร่างกายคือเนื้อหนังหน้าผากหนังคิ้วทั้งสองข้าง หนังตาทั้งสองข้าง เนื้อบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง โดยคิดในอัตราร้อยละ 60 ของเงินเดือนเป็นเงิน 5 ปีเป็นเงิน 75,816 บาท ค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็น โดยคิดในอัตราร้อยละ 60 ของเงินเดือนเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือนเป็นเงิน 31,590 บาท รวมเป็นค่าทดแทนทั้งสิ้น 264,092.40 บาท แต่โจทก์ขอคิดเป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ มท.1111/9848 ลงวันที่ 29มิถุนายน 2533 ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาทให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ มท.1111/9848 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2533 เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอน จำเลยได้จ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ไปแล้วรวม 2 รายการ คือ ค่ารักษาพยาบาลจำนวน30,000 บาท และค่าทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 54(1) ที่จ่ายให้เป็นเวลา 3 เดือน 25 วัน เป็นเงิน 4,843.75 บาท รวมเป็นเงิน34,843.75 บาท ส่วนค่าทดแทนตามข้อ 54(2) จำเลยได้ตกลงจ่ายให้เป็นเวลา 54 เดือน เป็นเงิน 68,234.40 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จากการที่โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่บริษัทยูไนเต็ดการฝ้าย จำกัด นายจ้างโจทก์ได้สูญเสียอวัยวะหนังศีรษะ ใบหูข้างขวา และคิ้วทั้งสองข้างตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) กำหนดให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนตามที่แพทย์แผนปัจจุยันชั้นหนึ่ง หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาพนักงานเงินทดแทนกำหนดแต่ไม่เกินห้าปี ที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติตามหนังสือที่ มท.1111/9848 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2533 ว่า โจทก์สูญเสียอวัยวะหนังศีรษะ ใบหูข้างขวา และคิ้วทั้งสองข้างคิดเป็นระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน 4 ปี 6 เดือน เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน แต่โจทก์ได้หยุดงานเนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2532 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 เป็นเวลา3 เดือน 29 วัน ต้องจ่ายค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54(1) มิใช่จ่ายให้มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน4 วัน ดังที่สำนักงานแรงงานจังหวัดปทุมธานีวินิจฉัย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54(1) เป็นรายเดือน เดือนละ 1,263.60 บาทเป็นเวลา 3 เดือน 29 วัน และจ่ายค่าทดแทนตามข้อ 54(12) เดือนละ1,263.60 บาท เป็นเวลา 54 เดือน เป็นเงิน 68,234.40 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “…ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จากการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์สูญเสียอวัยวะหนังศีรษะ ใบหูข้างขวา และคิ้วทั้งสองข้าง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ยังสูญเสียอวัยวะบริเวณดั้งจมูกและโหนกแก้มทั้งสองข้างด้วย เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่วินิจฉัยค่าทดแทนที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะของร่างกายเนื่องจากประสบอันตรายนั้น ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54(2) เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะและตามระยะเวลาที่ต้องจ่ายให้ ตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินสิบปี และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2)ข้อ 1(16) วรรคแรก ระบุกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายตามข้อ 54(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนตามประเภทการสูญเสียอวัยวะนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) ตามที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือคณะกรรมการที่ปรึกษาพนักงานเงินทดแทนกำหนด แต่ไม่เกินห้าปี และตามข้อ 1(16) วรรคสอง ระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสบอันตรายถึงสูญเสียอวัยวะในหลายส่วนของร่างกายตามที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (16)ให้คำนวณกำหนดเวลาดังกล่าวรวมกันแต่ไม่เกินสิบปี ตามข้อกำหนดแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่า ค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายนั้น กำหนดให้นายจ้างจ่ายเป็นรายเดือนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะ และตามระยะเวลาที่ต้องจ่ายให้ตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดสำหรับกรณีของโจทก์ได้ความว่า จากการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์สูญเสียอวัยวะหนังศีรษะใบหูข้างขวาและคิ้วทั้งสองข้าง อันเป็นการสูญเสียอวัยวะตามประเภทที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ข้อ 1(16) อันเป็นการสูญเสียอวัยวะส่วนอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในข้อ (1) ถึง (15) ซึ่งให้มีระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน 4 ปี 6 เดือน ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติเมื่อโจทก์สูญเสียอวัยวะหนังศีรษะ ใบหูข้างขวาและคิ้วทั้งสองข้างอันเป็นการสูญเสียอวัยวะตามประเภทที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2)ข้อ 1(16) จึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้เป็นรายเดือนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน มิใช่เป็นการที่ต้องจ่ายค่าทดแทนจากการที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะในแต่ละส่วนของร่างกายดังที่โจทก์อุทธรณ์…”
พิพากษายืน.