คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สินค้าสูญหายไปจากตู้สินค้าโดยมีการนำถุงทรายมาแทนที่นั้นเป็นไปเพื่อเจตนาลวงว่าสินค้ายังอยู่ครบถ้วนในตู้สินค้าระหว่างขนส่งด้วยเหตุที่สินค้าที่สูญหายไปมีน้ำหนักถึง 3,243.20 กิโลกรัม และการที่ดวงตราผนึกของตู้สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีถึงท่าเรือปลายทางก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าตู้สินค้ามิได้ถูกเปิดออกก่อนหน้านั้น หมายความว่าตู้สินค้ามิได้ถูกเปิดเอาสินค้าออกไปและใส่ถุงทรายเข้ามาแทนที่ด้วยวิธีการตามปกติ สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า บริษัทผู้สำรวจสินค้าได้ทดลองถอดนอตด้านข้างตู้สินค้าออกพบว่าสามารถเปิดประตูตู้สินค้าได้โดยที่ตราประทับไม่ถูกตัดออก การที่ท่อทองแดงมีน้ำหนักประมาณม้วนละ 350 ถึง 450 กิโลกรัม การขนถ่ายจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เมื่อพิจารณาแผนผังการวางตู้สินค้าที่ถูกวางในชั้นที่สูงสุด ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการลักลอบนำสินค้าออกจากตู้สินค้าไม่อาจทำได้ในระหว่างการขนส่งโดยเรือเดินสมุทร ทั้งถุงทรายที่ถูกแทนที่มีภาษาไทยอยู่บนถุง และหากสินค้าถูกลักลอบนำออกจากตู้สินค้าพิพาทที่ปลายทางก็ไม่จำเป็นต้องนำถุงทรายจำนวนมากเข้ามาแทนที่เพื่อลวงน้ำหนักตู้สินค้าระหว่างการขนส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายขณะอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 51 และ 52 จึงต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไข CY/CY ผู้ขายเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย ลานพักตู้สินค้ามีเนื้อที่มากกว่า 4 สนามฟุตบอล มีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีแสงครอบคลุมบริเวณที่วางตู้สินค้าทุกบริเวณ สินค้าที่สูญหายมีน้ำหนักมาก การขนย้ายออกจากตู้สินค้าและนำถุงทรายเข้าแทนที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคน เครื่องมือ และเวลาในการดำเนินการ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่มีบุคคลจงใจวางแผนลักลอบนำสินค้าพิพาทออกจากตู้สินค้าแล้วทดแทนน้ำหนักสินค้าด้วยถุงทรายโดยไม่กระทบถึงดวงตราผนึกตู้สินค้า ข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 หรือตัวแทนละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายอาจเกิดขึ้นได้อันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในมาตรา 60 (1) จึงสามารถจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 804,464.09 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 29,092.94 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทสีมาทรานส์เฟอร์ จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 731,328.34 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 35,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยการขนส่งสินค้าจากบริษัทอุโตคุมปู ฮิตาชิ คอปเปอร์ ทูบ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ขายสินค้าประเภทท่อทองแดง จำนวน 70 ม้วน น้ำหนักรวม 7,970 กิโลกรัม ราคารวมค่าระวางการขนส่งสินค้าและประกันภัย จำนวน 44,018.93 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทบลู สตาร์ จำกัด ผู้ซื้อในประเทศอินเดีย ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขนส่ง จำเลยที่ 2 ได้รับมอบสินค้าจากผู้ขายในสภาพเรียบร้อยจำนวนครบถ้วน โดยสินค้าพิพาทบรรจุในตู้สินค้าหมายเลข 3106821 ปิดดวงตราผนึกเลขที่ ซีจี 5969 ขนส่งโดยเรือซีนาร์บินทันเที่ยวที่ 143 จากประเทศไทยไปถึงประเทศสิงคโปร์และเปลี่ยนมาขนส่งโดยเรืออาเซียนเทรเดอร์ เที่ยวที่ 18 ดับบลิว จนถึงจุดหมายปลายทาง วันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 สินค้าพิพาทขนส่งมาถึงประเทศอินเดีย ผู้รับตราส่งพบว่าดวงตราผนึกของตู้อยู่ในสภาพเรียบร้อย แต่เมื่อเปิดตู้สินค้าพบว่าสินค้าจำนวน 8 แผ่นรอง บรรจุสินค้าจำนวน 28 ม้วน น้ำหนัก 3,243.20 กิโลกรัม สูญหายและถูกแทนที่ด้วยถุงทราย จำนวน 20 ถุง น้ำหนักถุงละ 50 กิโลกรัม โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 จำนวน 804,464.09 บาท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประเด็นแรกว่า สินค้าพิพาทสูญหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่สินค้าพิพาทได้สูญหายไปจากตู้สินค้าพิพาทโดยมีการนำถุงทรายมาแทนที่สินค้าพิพาทนั้น เป็นไปเพื่อเจตนาลวงว่าสินค้ายังอยู่ครบถ้วนในตู้สินค้าพิพาทระหว่างขนส่งด้วยเหตุที่สินค้าพิพาทที่สูญหายไปมีน้ำหนักถึง 3,243.20 กิโลกรัม และการที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ดวงตราผนึกของตู้สินค้าพิพาทอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีถึงท่าเรือนาวา ชิวา ประเทศอินเดีย ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าตู้สินค้าพิพาทมิได้ถูกเปิดออกก่อนหน้านั้น เนื่องจากปรากฏว่ามีการพบถุงทรายเข้ามาแทนที่สินค้าที่สูญหายตอนที่ตู้สินค้าพิพาทถูกเปิดออกที่ปลายทาง ซึ่งมีความหมายว่า ตู้สินค้าพิพาทมิได้ถูกเปิดเอาสินค้าออกไปและใส่ถุงทรายเข้ามาแทนที่ด้วยวิธีการตามปกติ สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า บริษัทผู้สำรวจภัยได้ทดลองถอดนอตด้านข้างตู้สินค้าออกพบว่าสามารถเปิดประตูตู้สินค้าได้โดยที่ตราประทับไม่ถูกตัดออก จึงเชื่อว่าสินค้าถูกลักขโมยด้วยวิธีนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่าสินค้าสูญหายก่อนที่จำเลยที่ 2 จะรับมอบสินค้า ประกอบกับท่อทองแดงมีน้ำหนักมากประมาณม้วนละ 350 ถึง 450 กิโลกรัม การขนถ่ายจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ คือรถฟอร์คลิฟต์และกำลังคนส่วนหนึ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับแผนผังการวางตู้สินค้าที่แสดงให้เห็นว่าตู้สินค้าถูกวางในชั้นที่สูงสุด ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการลักลอบนำสินค้าออกจากตู้สินค้าพิพาทไม่อาจทำได้ในระหว่างการขนส่งโดยเรือเดินสมุทร อีกทั้งการที่พบว่าถุงทรายที่ถูกแทนที่สินค้าพิพาทเป็นถุงทรายที่มีภาษาไทยปรากฏอยู่บนถุง ซึ่งผู้มีชื่อปรากฏบนถุงทรายก็ได้ยืนยันว่าไม่เคยส่งสินค้าไปประเทศอินเดียและหากสินค้าถูกลักลอบนำออกจากตู้สินค้าพิพาทที่ปลายทาง ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องนำถุงทรายจำนวนมากเข้ามาแทนที่โดยเจตนาเพื่อลวงน้ำหนักตู้สินค้าพิพาทระหว่างการขนส่ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพของถุงทรายที่ระบุว่าเป็นของประเทศไทยเจตนาการลวงเรื่องน้ำหนักสินค้า พื้นที่การวางตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังที่มีเนื้อที่ขนาดสนามฟุตบอล 4 สนาม และการขนย้ายตู้สินค้า 2 ครั้ง ระหว่างตู้สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สินค้าพิพาทสูญหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ช่วงที่สินค้าพิพาทอยู่ในประเทศไทยจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าพิพาทได้สูญหายไปขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายมีว่า กรณีมีข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไข CY/CY โดยที่ผู้ขายเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย และข้อเท็จจริงยังได้ความจากนายปรีชา พยานจำเลยที่ 1 หัวหน้าแผนกเอกสารของบริษัทแหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการรับส่ง ตรวจ และปล่อยตู้สินค้าที่ใช้บริการกับบริษัท ซึ่งได้เบิกความว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2548 ตู้สินค้าพิพาทถูกวางไว้ที่ชั้น 4 ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ตู้สินค้าถูกเปลี่ยนตำแหน่งมาวางไว้ชั้น 2 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ตู้สินค้าพิพาทถูกนำขึ้นบรรทุกบนเรือ และช่องว่างระหว่างตู้สินค้าจะแคบมาก การเดินเข้าไปหาตู้สินค้าจะต้องตะแคงตัวเข้าไป โอกาสที่จะเปิดประตูตู้สินค้าพิพาทจะยากมากเพราะติดกับตู้สินค้าอื่น และรายละเอียดเกี่ยวกับลานพักตู้สินค้าก็ได้ความว่า ลานพักตู้สินค้ามีเนื้อที่มากกว่า 4 สนามฟุตบอล ซึ่งไม่มีพนักงานประจำ ลานพักตู้สินค้าไม่เปลี่ยว โดยมีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งมีการติดตั้งไฟสปอทไลท์เพื่อให้มีแสงครอบคลุมบริเวณที่วางตู้สินค้าทุกบริเวณ เมื่อพิจารณาถึงสินค้าพิพาทที่สูญหายแล้ว สินค้าพิพาทที่สูญหายมีน้ำหนักมาก โดยน้ำหนักแต่ละแผ่นรองประมาณ 350 ถึง 450 กิโลกรัม สินค้าสูญหายรวม 28 ม้วน รวมน้ำหนัก 3,243.20 กิโลกรัม การขนย้ายสินค้าพิพาทออกจากตู้สินค้าพิพาทและนำถุงทรายจำนวน 20 ถุง น้ำหนักถุงละ 50 กิโลกรัม เข้าแทนที่สินค้าพิพาทในตู้สินค้า จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคน เครื่องมือ และเวลาในการดำเนินการ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่มีบุคคลจงใจวางแผนลักลอบนำสินค้าพิพาทออกจากตู้สินค้าพิพาทแล้วทดแทนน้ำหนักสินค้าพิพาทด้วยถุงทราย โดยการดำเนินการดังกล่าวยังคงไม่กระทบถึงดวงตราผนึกตู้สินค้าที่มีอยู่แต่เดิม ข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 หรือตัวแทนละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายอาจเกิดขึ้นได้ อันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในมาตรา 60 (1) แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงสามารถยกขึ้นอ้างซึ่งข้อจำกัดความรับผิดตามความในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ได้ ดังนั้น สินค้าพิพาทสูญหายจำนวน 28 ม้วน รวมน้ำหนัก 3,243.20 กิโลกรัม ข้อจำกัดความรับผิดในกรณีนี้อันคำนวณแล้วมีจำนวนเงินมากกว่าตามความในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง คือ กิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นราคาสินค้าจึงอยู่ที่จำนวน 97,296 บาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นในข้อนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 97,296 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2549 อันเป็นวันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share