คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินการเวนคืนในคดีนี้ แม้ขณะที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาโดยอาศัยหลักเกณฑ์โดยถือตามมาตรา 21(2) หรือ (3) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติไว้ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ต่อมาความในวรรคสี่ของมาตราดังกล่าวถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนโดยข้อ 1 แห่งประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้แก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนี้ การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้ถือเอาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 เฉพาะข้อ (2)และ (3) มากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่บังคับใช้ในภายหลัง
เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 บัญญัติให้กำหนดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนโดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนมาจำนวนเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิร่วมกัน มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกัน
(วรรคสองวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 8/2540)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2527เนื้อที่ 1 ไร่ 47 ตารางวา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2531 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางหลวงเทศบาลเชื่อมระหว่างถนนสาธรกับแม่น้ำเจ้าพระยา และจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้โดยคิดตามราคาที่ประเมินไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือเพื่อเรียกขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่61,071,517 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า เงินค่าทดแทนที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่จำเลยที่ 1กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสี่เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 14,466,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2535 จนกว่าชำระเสร็จ แต่หากจำเลยทั้งสองได้จ่ายเงินหรือฝากเงินจำนวนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนจำนวน 19,920,000 บาท แล้ว ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินให้โจทก์ทั้งสี่เพิ่มเพียง 10,016,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราและนับแต่วันที่ดังกล่าวจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่

โจทก์ทั้งสี่ และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ120,000 บาท ถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินการเวนคืนในคดีนี้ แม้ขณะที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาโดยอาศัยหลักเกณฑ์โดยถือตามมาตรา 21(2) หรือ (3) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติไว้ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จต่อมาความในวรรคสี่ของมาตราดังกล่าวถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนโดยข้อ 1 แห่งประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งบัญญัติว่า ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24… และข้อ 5 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่… แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย อันเป็นการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ทั้งมาตรา มิใช่ข้อหนึ่งข้อใดมาตรา 21 กำหนดไว้ว่าเงินค่าทดแทนให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาตามมาตรา 6(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนี้ การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้ถือเอาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 เฉพาะข้อ (2) และ (3) มากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่บังคับใช้ในภายหลัง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 120,000 บาท เท่ากันตลอดทั้งแปลงซึ่งเป็นการกำหนดค่าทดแทนโดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 จึงเป็นการถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว

อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสี่ขอมาในคำแก้ฎีกา โดยขอให้คืนค่าขึ้นศาลที่ศาลล่างเรียกเกินมาจำนวน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทมิได้มีการแบ่งแยกว่าโจทก์คนใดเป็นเจ้าของหรือครอบครองส่วนไหนของที่ดินถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์ทั้งสี่เป็นรายบุคคลจึงไม่ชอบนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 บัญญัติว่าเงินค่าทดแทนนั้น ให้กำหนดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืน โดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนมาจำนวนเดียวกันเป็นการใช้สิทธิร่วมกัน มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัวจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกัน สำหรับคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุด คือศาลละ 200,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มจากโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการไม่ชอบ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมาศาลละ 600,000 บาท รวม 1,200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่

พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลที่ศาลล่างทั้งสองเรียกเก็บเพิ่มศาลละ 600,000บาท รวม 1,200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่

Share