คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่เข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 นั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากตัวทรัพย์นั้นโดยตรง แม้กระแสไฟฟ้าจะเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพแต่ตามฟ้องโจทก์อ้างเหตุละเมิดเพราะจำเลยทั้งสองไม่ตัดกระแสไฟฟ้าให้ไม่ปลอดภัยต่อการดับเพลิง เป็นเหตุให้เพลิงลุกลามไหม้บ้านโจทก์ ซึ่งเป็นการกระทำของบุคคล หาใช่ความเสียหายที่เกิดจากตัวทรัพย์คือกระแสไฟฟ้าไม่ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าหน่วยสมทบป้องกันอัคคีภัย ปล่อยปละละเลยไม่สั่งการให้ตัดกระแสไฟฟ้าโดยเร็วทำให้เพลิงซึ่งไหม้อาคารฝั่งตะวันออกถนนเอกาทศรฐ และได้ไหม้ลุกลามข้ามถนนมาทางอาคารฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นบ้านของโจทก์และของผู้อื่น ถ้าจำเลยที่ 2 ตัดกระแสไฟฟ้าโดยเร็วเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถป้องกันมิให้เพลิงลุกลามมาไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ได้จำเลยที่ 2 ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 657,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,500 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์เหตุเพลิงไหม้เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น ไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 2 ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายไม่ถึง100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 นั้นจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากตัวทรัพย์นั้นโดยตรง แม้กระแสไฟฟ้าจะเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ แต่ตามฟ้องโจทก์อ้างเหตุละเมิดเพราะจำเลยทั้งสองไม่ตัดกระแสไฟฟ้าทำให้ไม่ปลอดภัยต่อการดับเพลิงเป็นเหตุให้เพลิงลุกลามไหม้บ้านของโจทก์ ซึ่งเป็นการกระทำของบุคคล หาใช่ความเสียหายที่เกิดจากตัวทรัพย์คือกระแสไฟฟ้าไม่กรณีตามฟ้องโจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์หาใช่จำเลยทั้งสองไม่เมื่อโจทก์นำสืบได้ไม่สมฟ้องจึงไม่อาจชนะคดีได้
พิพากษายืน

Share